fbpx
Search
Close this search box.

ธุรกิจรีไซเคิลรับแรงกระแทก รัฐบาลแบนนำเข้าเศษพลาสติก

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ หลังปี 2568 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ภาครัฐจะยังคงผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกตามที่ภาครัฐกำหนด รวมถึงผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกภายในประเทศ หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น ในช่วงปี 2566 และปี 2567 ก่อนจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดในปี 2568

แต่ถึงอย่างนั้น มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศอาจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลจะรับซื้อขยะพลาสติกภายในประเทศ รวมถึงนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และในปี 2565 ประเทศไทยมีการนำเข้าพลาสติกเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้าถึง 179,000 ตัน คิดเป็นประมาณ 25% ของขยะพลาสติกทั้งหมด

โดย Krungthai COMPASS คาดว่าผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง จะทำให้ราคารับซื้อขยะพลาสติกของโรงงานรีไซเคิลในปี 2568 อยู่ในช่วง 14.8 – 15.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 10 – 17% เมื่อเทียบกับราคารับซื้อขยะพลาสติกในปี 2565 โดยราคารับซื้อขยะพลาสติกที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า ที่นำมาขายให้กับโรงงานรีไซเคิล แต่ธุรกิจโรงงานรีไซเคิลกลับต้องมีอัตรากำไรลดราว 10% 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการสร้างขยะพลาสติกปริมาณประมาณ 2 – 2.5 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศที่ได้รับการรีไซเคิลมีเพียง 20% หรือประมาณ 500,000 ตันเท่านั้น ซึ่งมีอัตราการรีไซเคิลที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ถ้าประเทศไทยมีระบบการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าขยะพลาสติกภายในประเทศจะสามารถชดเชยรายได้ จากการนำเข้าเศษพลาสติกได้ประมาณ 1.2 – 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมาตรการยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติก อาจส่งผลดีให้กับการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ เช่น PET, PE, และ PP จำนวนกว่า    1.5 – 2 ล้านตัน

นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการของไทยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ราว 1.5 ล้านตันต่อปี ตามเป้าหมาย ของภาครัฐ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 1.55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 130 ล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 1.3 ล้านไร่ หรือราว 1.3 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติกจำเป็นต้องวางแผน และรับประกันการจัดหาขยะพลาสติกภายในประเทศที่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาการนำเข้าขยะพลาสติก นอกจากนี้ ควรเริ่มออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% ทั้งนี้รัฐบาลควรมีบทสำคัญในการส่งเสริมการแยกขยะในสาธารณะ รวมถึงสนับสนุนงบในการรีไซเคิลขยะพลาสติก

ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่