fbpx
Search
Close this search box.

Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี ธุรกิจคุณอยู่น่านน้ำไหน

การทำธุรกิจเปรียบเสมือนการอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างขวาง ในแต่ละมหาสมุทรก็จะมีเป้าหมายและการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป ซึ่งการเข้าใจและรู้จักกลยุทธ์ในน่านน้ำแต่ละแห่ง ก็จะทำให้ธุรกิจของเราอยู่รอดต่อไปได้ โดยเทคนิคนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Ocean Strategy’ กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี ซึ่งมหาสมุทรธุรกิจนี้จะมีสีอะไรบ้าง ACU PAY จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกัน

Blue Ocean น่านน้ำสีฟ้า

ธุรกิจที่เน้นสร้างตลาดใหม่ หาเป้าหมายใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้วในกลุ่ม Red Ocean ใส่จุดขายใหม่ลงไปให้น่าสนใจมากขึ้น จนทำให้สินค้ากลายเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย Blue Ocean เปรียบเสมือนน่านน้ำเต็มไปด้วยปลา ที่สงบและน่าดึงดูด แต่ยังไม่เคยมีใครมาหาปลาตรงจุดนี้ กลยุทธ์นี้จึงน่าสนใจในการสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ในสินค้าหรือบริการขึ้นมา

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : รับจ้างมู แก้ชง

เมื่อช่วงที่เกิดโควิดระบาดทำให้การเดินทางระหว่างและนอกประเทศต้องหยุดชะงักไปเป็นระยะเวลานาน แต่การปรับตัวก็ทำให้เกิดธุรกิจหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ การรับจ้างทำบุญ-แก้ชง เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายสายมูเตลูที่อยากไหว้พระทำบุญแก้ชงต่าง ๆ แต่ไม่สามารถมาได้ จึงได้จ้างให้คนอื่นทำแทน ซึ่งนี่ถือเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงนั้น จนเพิ่มมากขึ้นถึงปัจจุบัน

Red Ocean น่านน้ำสีแดง

ธุรกิจที่มีสินค้าเหมือนกันอยู่แล้วในตลาด มีการแข่งขันสูง และกลุ่มเป้าหมายกว้างมาก แทบจะทุกเพศทุกวัย ซึ่งลักษณะสินค้าจะเป็นสินค้าทั่วไปที่ใครต่างก็ต้องการ ประเภท FMCG เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ฯลฯ ด้วยลักษณะสินค้าทำให้น่านน้ำนี้มีความแข่งขันสูงมาก 

กลยุทธ์ในการอยู่รอดในน่านน้ำนี้ คือการจัดโปรโมชัน ดึงดูดลูกค้า เพราะราคาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพียงราคาต่ำกว่าคู่แข่งไม่กี่บาท ก็สามารถทำให้ลูกค้าสนใจได้ แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าของธุรกิจต้องควบคุมต้นทุน-กำไรสินค้าให้ดี เพราะหากควบคุมไม่ได้ มีแววว่าจะขาดทุนสูง

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : สุกี้ตี๋น้อย

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีร้านสุกี้ชาบูเป็นจำนวนมาก แต่หนึ่งในร้านบุฟเฟ่ต์ชาบูที่มาแรงในช่วงนี้ก็คือ ร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่มีจุดเด่นเรื่องราคาที่โดดเด่น พร้อมวัตถุดิบสดและดี แต่สิ่งที่ทำให้ร้านสุกี้ตี๋น้อยประสบความสำเร็จ นั่นคือการมองธุรกิจแบบ Outside In โดยคิดถึงลูกค้าก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ลูกค้าที่มาทานอยากกลับมาทานซ้ำ และบอกต่อปากต่อปาก จนร้านประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ และมียอดกำไร 591 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี

Green Ocean น่านน้ำสีเขียว

ธุรกิจที่มีสินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ โดยทิศทางของธุรกิจ จะผลิตสินค้า ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก เช่น การเลือกใช้เฉพาะวัสดุรีไซเคิล การไม่ใช่วัสดุที่ได้จากสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตที่ไม่สร้างมลภาวะให้โลกอีกด้วย 

ซึ่งธุรกิจแนว Green Ocean นี้กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสนใจสิ่งแวดล้อม และธุรกิจนี้ยังถือว่าเป็นการทำ CSR รูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงผลกำไรอย่างเดียว แต่ยังช่วยรักษาโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : โอ้กะจู๋

โอ้กะจู๋ ธุรกิจร้านอาหาร Farm to Table และสวนผักออแกนิกที่นำ Green Ocean Strategy มาทำแล้วประสบความสำเร็จ จากสวนผักธรรมดา แตกกิ่งก้านจนมีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยมีใช้การปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ 300 กว่าไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการออกแบบและจัดการฟาร์มโดยไม่พึ่งพาสารเคมี คำนึงถึงธรรมชาติ ผลิตผล ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน 

White Ocean น่านน้ำสีขาว

ธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความดี ศีลธรรม และความยั่งยืน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการบริหารธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้า-บริการที่ควบคู่ไปกับการคืนสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม เช่น การแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้ นำไปบริจาคคืนกำไรให้กับสังคม หรือ CSR ที่เรารู้จักกัน ซึ่งกลยุทธ์นี้จะช่วยให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดูดี สร้างความรู้สึกดีให้แก่ลูกค้า

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : อภัยภูเบศร

‘อภัยภูเบศร’ หรือ สมุนไพรอภัยภูเบศร เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่นอกจากขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรไทยแล้ว ยังมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทย ในแต่ละขั้นตอนล้วนให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลกำไรมากกว่า 50% ถูกนำกลับไปลงทุนซ้ำ เพื่อคืนประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งปัจจุบัน อภัยภูเบศรได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและหมอยาพื้นบ้านอีกด้วย

Black Ocean น่านน้ำสีดำ

ธุรกิจที่เน้นการใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และแข่งขันกันที่ ‘เส้นสาย’ และบารมีของเจ้าของธุรกิจหรือหุ้นส่วน ไม่ใช่ใครก็สามารถทำธุรกิจแบบนี้ได้ โดยธุรกิจนี้จะชิงเอาส่วนแบ่งการตลาดโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น เพียงแค่ให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์ใด ๆ ก็ตาม แต่การดำเนินธุรกิจด้วย Black Ocean นี้ จะต้องคอยหลบเลี่ยงช่องว่างตามกฎหมาย

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : ธุรกิจสีเทา

ธุรกิจสีเทาต่าง ๆ เช่น ธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ, บ่อน, หวยใต้ดิน, โต๊ะพนัน, ธุรกิจอาบอบนวด เป็นต้น

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่