fbpx
Search
Close this search box.

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นเครื่องมือการออมที่สำคัญเพื่อรองรับการเกษียณของมนุษย์เงินเดือน โดยเป็นการออมแบบสมัครใจที่บริษัทหรือนายจ้างมีการจัดตั้งกองทุนนี้เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่รู้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้สำคัญอย่างไร ACU PAY จะมาอธิบายให้ฟัง

เนื้อหา

รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวหากลูกจ้างเสียชีวิต

ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนจ่ายสะสมและเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวในกรณีที่สมาชิกออกจากงานเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. เงินสะสม

  • เป็นเงินที่ “ลูกจ้าง” จ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเอง โดยกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน
  • ประโยชน์ : เหมือนได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้ เป็นสวัสดิการเงินได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อออกจากงานหรือเกษียณอายุ เป็นหลักประกันให้กับครอบครัว กรณีสมาชิกทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เป็นโอกาสออมเงินเพื่อตนเองและครอบครัวเพิ่มขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

2. เงินสมทบ

  • เป็นเงินที่ “นายจ้าง” จ่ายเข้ากองทุนให้ลูกจ้างอีกส่วน โดยกฎหมายกำหนดให้นายจ้างสมทบได้ตั้งแต่ 2-15% แต่ต้องเป็นอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
  • ประโยชน์ : เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานส่งผลให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดภาระของนายจ้างในการจ่ายเงินบำเหน็จ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เป็นเครื่องมือในการลดอัตราการเข้า-ออกของพนักงาน

เงินกองทุนนี้ จ่ายแล้วไปอยู่ในไหน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะมีมืออาชีพที่เรียกว่า “บริษัทจัดการ” หรือ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” (บลจ.) นำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ ที่สมาชิกกองทุนได้เลือกไว้ เช่น การลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น เป็นต้น เมื่อมีดอกเบี้ย ก็จะนำดอกเบี้ยที่ได้มาเฉลี่ยให้กับสมาชิกทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” และ “ผลประโยชน์ของเงินสมทบ”

แล้วเราจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อไร

จะได้รับก็ต่อเมื่อลาออกจากงานหรือกองทุน เกษียณอายุ รวมถึงการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ซึ่งเงินสะสมและผลประโยชน์อาจได้รับความแตกต่างกันตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เช่น บางบริษัทอาจกำหนดสิทธิรับเงินสมทบและผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน แต่สมาชิกจะได้รับส่วนของเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสมครบทั้งจำนวน ไม่ว่าจะอายุงานเท่าไรก็ตาม

ในกรณีลาออกจากงาน สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถเก็บเงินต่อเนื่องในรูปแบบเดิมได้ โดยการ

  • โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเดิมไปยังกองทุนของบริษัทใหม่ ทำได้ทันที ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือภาษี
  • โอนไปยังกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นเพื่อรับเงินโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ (RMF for PVD) ทางเลือกนี้เหมาะสำหรับคนที่ย้ายบริษัทแล้วยังไม่มีนโยบายลงทุนที่ถูกใจ รวมถึงคนที่ลาออกจากงานไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ก็สามารถโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF for PVD ได้ แต่ถ้าหากย้ายไปแล้วจะไม่สามารถกลับไป PVD ได้อีก

ในกรณีที่ไม่ต้องการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว ก็สามารถคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กองทุนกำหนดไว้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ แต่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี 

ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือการออมเงินที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นการออมเงินระยะยาว และมีผู้จัดการกองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คอยดูแลเงินของสมาชิกตลอดเวลา แต่เราเองก็จำเป็นต้องติดตามการลงทุนของเราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดอกผลที่งอกเงยในอนาคต

อ้างอิงจาก

ผู้เขียน

ACU PAY Thailand

ACU PAY Thailand

ให้ทุกเรื่องการเงินเป็นเรื่องง่าย เริ่มต้นวันดีๆ ไปกับเรา MAKE A GREAT DAY WITH ACU PAY

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่