fbpx
Search
Close this search box.

ดูคอนเสิร์ตจบ แต่ทำไมจำอะไรไม่ได้เลย!? มารู้จักภาวะ ‘ความจำเสื่อม หลังดูคอนเสิร์ต’

เคยไหมไปคอนเสิร์ตสนุกจัดเต็มกว่า 2 – 3 ชั่วโมง แต่พอกลับบ้านมา จะเม้าส์เรื่องในคอนเสิร์ตให้เพื่อนฟัง ภาพจำเหตุการณ์มันกลับเลือนรางซะงั้น ไม่ต้องแปลกใจไป เดี๋ยวเอซียูเพย์จะอธิบายถึงสภาวะความจำเสื่อมหลังดูคอนเสิร์ตนี้กัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับแฟนคลับเทย์เลอร์ สวิฟต์ หรือ “สวิฟตี้” คนนึง เธอได้โพสต์เรื่องราวลงบนโซเชียลมีเดีย หลังจากชมคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่อัดแน่นด้วยเพลย์ลิสต์เพลงกว่า 40 เพลง ตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงเต็ม เธอกลับประสบปัญหาจำเรื่องราวนี้ได้เลือนราง จำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้เลย  อาจฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อ แต่เหล่าสวิฟตี้หลายคนอ้างตรงกันว่า พวกเขาก็ประสบภาวะ “ความจำเสื่อมหลังคอนเสิร์ต” เหมือนกัน

โดยเหตุการณ์นี้ได้รับคำอธิบายจาก ดร.มิเชลล์ ฟิลลิปส์ อาจารย์อาวุโสด้านจิตวิทยาดนตรีจากสถาบันสอนดนตรีรอยัล นอร์ทเทิร์น โดย ดร.ฟิลลิปส์ ได้ให้ข้อมูลว่า เราอาจมีโอกาสหลงลืมบางเหตุการณ์ในช่วงเวลาแห่งความสุขระหว่างการดูคอนเสิร์ตได้ ซึ่งอาการนี้เรียกว่า “ความจำเสื่อมหลังดูคอนเสิร์ต” หรือ Post-Concert Amnesia แต่อาการนี้ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด

โดยยกตัวอย่างคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ที่มีผู้ชมหลายคนต้องเผชิญกับอาการนี้ ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจจนทำให้แต่ละคนโฟกัสในจุดที่แตกต่างกัน บางคนจำได้เฉพาะภาพและการเคลื่อนไหวของนักร้อง บางคนจำได้เฉพาะความอลังการของฉาก หรือบางคนก็จำอะไรไม่ได้เลย ยกเว้นแต่ความรู้สึกในช่วงเวลานั้น 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งหลักการที่ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อมหลังคอนเสิร์ตคือหลักการจากคำพูดที่ว่า “เวลาช่างผ่านไปเร็วเวลาที่เรามีความสุข” ดร.ฟิลลิปส์อธิบายว่า เมื่อแฟน ๆ รู้สึกตื่นเต้นและจมอยู่กับช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาจะรู้สึกราวกับว่า “เวลาผ่านไปอย่างกะทันหัน” และพวกเขาจะไม่สามารถประมวลผลทุกสิ่งที่พวกเขาเพิ่งเห็น ได้ยิน และรู้สึก ได้อย่างถูกต้อง

อะไรคือสาเหตุของภาวะความจำเสื่อมหลังดูคอนเสิร์ต

ดร. โรเบิร์ต ชุลมาน รองศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์รัช กล่าวว่า ความทรงจำระยะยาวต้องการ “การถ่ายโอนความทรงจำระยะสั้นไปยังพื้นที่ที่มีความทรงจำระยะยาว” ซึ่งมักใช้เวลาเป็นวันหรือสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น

ดังนั้นเมื่อมีอะดรีนาลีนและคอร์ติโคสเตียรอยด์หลั่งออกมามาก เพราะความตื่นเต้น ทั้งจากการกระโดดโลดเต้น โดยสารแห่งความสุขและความตื่นเต้นพวกนี้จะไปรบกวนการทำงานของหน่วยความจำของเรา ทำให้จำไม่ได้ชั่วคราวว่าทุกอย่างเป็นอย่างไรนั่นเอง

นอกจากนี้คอนเสิร์ตในยุคปัจจุบันนั้น ต่างจัดเต็มไปด้วยองค์ประกอบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งแสงไฟ อุปกรณ์ประกอบฉากขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของนักร้อง และฉากที่ปรับเปลี่ยนไปมา ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่บางคนจะไม่สามารถจดจำทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตได้

หลังเกิดภาวะความจำเสื่อมหลังดูคอนเสิร์ตต้องทำอย่างไร

สำหรับวิธีแก้เรื่องนี้ ดร.ชุลมาน กล่าวว่าแฟนคลับสามารถลองฟื้นความทรงจำบางส่วนได้ด้วยการฟังเพลงหรือดูการแสดงคอนเสิร์ตที่ไปดูผ่านคลิปวิดีโอหรือภาพ ถ้าอยากได้วิธีป้องกันไม่ให้ความจำเสื่อมที่จะเกิดขึ้นหลังดูคอนเสิร์ตจบ สามารถฝึกสติทำได้ง่าย ๆ ด้วยการไม่จมอยู่กับเหตุการณ์ตื่นเต้นต่อหน้ามากเกินไป ลองตั้งสติและถอยออกมา สำรวจกลุ่มคนรอบตัว ก็จะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด และมีความทรงจำทั้งภาพและอารมณ์ตราตรึงไม่มีวันลืม 

ซึ่งจะสรุปได้ว่าแต่ละคนจะโฟกัส สถานที่ บุคคล บรรยากาศ ในจุดที่แตกต่างกัน ซึ่งในช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น ถึงแม้ว่าความทรงจำอาจจะเลือนราง วิธีการที่จะฟื้นความทรงจำบางส่วนที่หลงลืมไปได้ดีที่สุด คือการย้อนดูคลิปวิดีโอหรือภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น เพื่อกระตุ้นความทรงจำที่เลือนรางให้ชัดอีกครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่