fbpx
Search
Close this search box.

คลายข้อสงสัย...ประกันแบบใดใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง?

กำหนดการยื่นภาษีของปี 2565 ภงด.90 ในรูปแบบกระดาษจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และรูปแบบ e-filing สิ้นสุดในวันที่ 10 เมษายน 2566  หลายท่านที่ทำประกันไว้หลายฉบับ หรือเพิ่งลองหัดยื่นภาษีคงสงสัยว่ามีประกันแบบใดบ้างที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ประกันชีวิต

การทำประกันชีวิต เป็นการให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ทำประกันเอาไว้ และหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ทางบริษัทประกันจะจ่ายเงินคืนตามทุนประกัน พร้อมให้ผลประโยชน์แก่ผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา เช่น บุคคลในครอบครัว คู่สมรส หรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการจากไปของผู้ที่ทำประกันชีวิตเอาไว้ทางใดทางหนึ่ง และนอกจากประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked และประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาแล้ว ประกันสะสมทรัพย์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่าประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ เงื่อนไขมีดังนี้

  • ลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรณีทำประกันให้คู่สมรส (ไม่มีรายได้) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป แต่หากเป็นแบบที่มีการจ่ายเงินคืนระหว่างทาง จะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันสะสมในแต่ละช่วงเวลา
  • ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked สามารถลดหย่อนภาษีได้ในส่วนของการประกันชีวิต แต่ในส่วนของการลงทุนจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
  • ต้องทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย

ประกันชีวิตแบบบํานาญ

ประกันชีวิตแบบบํานาญ เป็นการทำประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ โดยส่วนใหญ่จะต้องจ่ายค่าเบี้ยออม (เบี้ยประกัน) อย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขที่กำหนด จากนั้นจะได้รับเงินคืนเป็นรายปีเมื่อถึงอายุที่ระบุในสัญญา เช่น ได้รับเงินรายปีตั้งแต่อายุ 60 – 80 ปี เป็นต้น สรุปง่าย ๆ คือประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการลงทุนระยะยาวที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณให้ตัวเอง (แต่ได้รับสิทธิคุ้มครองชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับประกันที่จ่าย) ซึ่งแน่นอนว่าประกันชีวิตบํานาญสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน เงื่อนไขดังนี้

  • ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท
  • ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตทั่วไป
  • ค่าลดหย่อนภาษีเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ RMF เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • หากในส่วนของประกันชีวิตยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนได้
  • อายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป
  • ต้องจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ และต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบก่อนได้รับผลประโยชน์
  • กำหนดช่วงอายุการเงินผลประโยชน์ตั้งแต่ 55 – 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  • ทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย

ประกันสุขภาพของตัวเอง

ประกันสุขภาพเป็นตัวช่วยค่ารักษาพยาบาลทั้งกรณีเจ็บป่วย โรคภัยต่าง ๆ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นค่าหมอ ค่าห้อง ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่าง ๆ ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (คุ้มครองและให้วงเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด) ซึ่งประกันสุขภาพที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เช่น ประกันสุขภาพแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แบบประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses) แบบประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care) เป็นต้น สำหรับเกณฑ์ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ มีคำตอบดังนี้

  • ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี
  • เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • ต้องทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทย

ประกันสุขภาพของบิดา - มารดา

หมดความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของบิดา – มารดา มีรูปแบบประกันครอบคลุมการรักษา ไม่กระทบเงินในกระเป๋า และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย รายละเอียดดังนี้

  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดา – มารดา สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี
  • บิดามารดาต้องมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้)
  • ในกรณีที่ลูก ๆ ช่วยกันจ่ายค่าเบี้ยประกัน การใช้สิทธิลดหย่อนจะต้องถูกหารตามจำนวนพี่น้องที่ร่วมกันจ่าย เช่น มีพี่น้อง 3 คน ลูกแต่ละคนจะได้รับสิทธิลดหย่อนไม่เกิน 5,000 บาท จากจำนวนเต็ม 15,000 บาท เป็นต้น
  • ตัวผู้จ่ายประกันหรือบิดา – มารดาท่านใดท่านหนึ่ง ต้องอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • หากในปีนั้นคู่สมรสไม่มีรายได้ตลอดปีภาษีนั้น สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา – มารดา คู่สมรส มาลดหย่อนภาษีได้

ถึงอย่างไรก่อนตัดสินใจทำประกันลดหย่อนภาษี แนะนำว่าไม่ควรซื้อประกันเพื่อเหตุผลของการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงความเหมาะสม ที่จะทประกันไว้เสมอ โดยให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากที่สุด

สามารถดูข้อมูลอัพเดทได้ที่ กรมสรรพากร | กรมสรรพากร – The Revenue Department (rd.go.th)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่