fbpx
Search
Close this search box.

ผู้จัดการมรดกสำคัญอย่างไร ทำไมต้องมี ?

เราอาจเคยเห็นในละครไทยหลายเรื่อง ที่มักมีทนายมาอ่านพินัยกรรมเจ้าคุณปู่ที่ทิ้งไว้ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเจ้าคุณปู่มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถแบ่งมรดกได้จะต้องทำอย่างไร ครั้งนี้ ACU PAY จะพามาทำความเข้าใจเรื่องผู้จัดการมรดกกัน

ผู้จัดการมรดกเป็นใคร

เมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว หลังจากแจ้งการเสียชีวิตเพื่อออกใบมรณบัตรแล้ว ครอบครัวส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องตั้ง “ผู้จัดการมรดก” เพื่อจัดการทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามกฎหมาย และที่สำคัญต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก

ต้องมีผู้จัดการมรดกเมื่อไหร่

  1. เจ้าของมรดกเสียชีวิต
  2. มีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถแบ่งมรดกได้ ดังนี้
    ▸ ทำพินัยกรรมแต่ไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดก
    ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้
    ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมสูญหาย
    ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมอยู่นอกประเทศ
    ทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้เยาว์
    ▸ผู้จัดการมรดกไม่สามารถแบ่งมรดกได้
    มีพินัยกรรมแต่เป็นพินัยกรรมปลอม

จัดตั้งผู้จัดการมรดกอย่างไร

ซึ่งถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ต้องให้ผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องของตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่

  1. ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
  2. ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก (เช่น เจ้าหนี้)
  3. พนักงานอัยการ

ซึ่งคนเหล่านี้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ดำเนินการตั้งผู้จัดการมรดกโดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีที่ไม่มีพินัยกรรม

    อาจขอให้ตั้งทายาทหรือคู่สมรส คนใดคนหนึ่ง หรือร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก หรืออาจตั้งบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย

  2. กรณีที่มีพินัยกรรมและมีการระบุผู้จัดการมรดกไว้แล้ว
    ให้ตั้งบุคคลที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นผู้จัดการมรดก หลังจากศาลได้ประกาศเพื่อให้ทายาทคัดค้าน และไต่สวนคุณสมบัติผู้ร้อง หากไม่มีการคัดค้าน ศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการมรดก ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน จากนั้น ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามหน้าที่

ผู้จัดการมรดกต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

โดยคุณสมบัติของผู้จัดการมรดก จะต้องบรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นคนวิกลจริต ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

หน้าที่หลักของผู้จัดการมรดก

เมื่อได้ผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำหน้าที่ดังนี้

  • ทำบัญชีให้เสร็จภายใน 1 เดือนตั้งแต่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก
  • จัดการแบ่งมรดกให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือตามระยะเวลาที่ทายาทและศาล กำหนดไว้ด้วย
  • ห้ามผู้จัดการมรดกรับค่าตอบแทนพิเศษจากกองมรดก ยกเว้น พินัยกรรมหรือทายาทส่วนใหญ่ให้
  • ห้ามผู้จัดการมรดกเอาทรัพย์มรดกที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียมาแบ่งให้ตนเอง
  • ห้ามผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมสัญญากับคนภายนอกโดยทายาทไม่ยินยอม
  • ผู้จัดการมรดกต้องสืบประวัติและแจ้งข้อกำหนดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ทายาทต้องบอกทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายตามที่รู้ให้กับผู้จัดการมรดก
  • ผู้จัดการมรดกต้องชำระหนี้ (ถ้ามี) ก่อนแบ่งมรดก

ถ้า “ผู้จัดการมรดก” ละเลยหน้าที่หรือทุจริต ทำอย่างไร

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, มาตรา 1728 และมาตรา 1729 ระบุไว้ว่า หากผู้จัดการมรดกไม่ทำตามหน้าที่หรือทุจริต เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกในแก่ทายาท 

ทายาทผู้รับสิทธิ์มรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียในมรดก สามารถร้องขอให้ศาลดำเนินการกับผู้จัดการมรดกได้ เช่น ถอนผู้จัดการมรดก, ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดก, ฟ้องเพิกถอนการโอนมรดก และดำเนินคดีอาญาความผิดฐานยักยอก

จะเห็นได้ว่าผู้จัดการมรดก เป็นบุคคลสำคัญในการบริหารจัดการและดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับมรดก ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมทรัพย์มรดก เพื่อแบ่งให้ทายาท ตลอดจนจัดการหนี้สินของเจ้ามรดก ทำบัญชีทรัพย์มรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ 

ถ้าหากเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้จัดการมรดกก็สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น กลับกันถ้าหากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนที่กล่าวไป ดังนั้นการทำพินัยกรรมกำหนดผู้จัดการมรดกที่มีความเป็นกลางหรือที่ทายาททุกคนยอมรับไว้ตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้นั่นเอง  

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่