fbpx
Search
Close this search box.

รวมภาษีแปลกทั่วโลก แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ

ภาษี

ภาษี คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อมาเป็นรายได้พัฒนาประเทศและกิจการ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในบางประเทศทั่วโลกก็มีการเก็บภาษีในแง่มุมแปลก ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง ถ้าอยากรู้ว่ามีประเทศไหนบ้าง ตาม ACU PAY มาเลย

ภาษี

ภาษีวัวเรอ ประเทศเดนมาร์ก

ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก คือควันดำที่มาจากโรงงาน แต่ที่เดนมาร์กกลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยสาเหตุก๊าซเรือนกระจกหลักในประเทศโซนยุโรปมาจาก ‘วัว’ 

จากการวิจัยพบว่าประมาณ 18% ของแก๊สเรือนกระจกในยุโรปมาจากแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นแก๊สที่ปล่อยออกมาจากวัว ที่ย่อยผักใบเขียวช้าเกิดหมักหมมเป็นแก๊สมีเทน ที่ปล่อยออกมาผ่านการเรอและผายลม 

เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนที่เกิดจากวัว ประเทศในยุโรปบางประเทศจึงเรียกเก็บภาษีสำหรับวัวแต่ละตัว หนึ่งในนั้นคือเดนมาร์ก ดังนั้นวัวของที่นี่จึงมีมูลค่า 110 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4,000 บาทต่อตัว

นอกจากนี้ในประเทศนิวซีแลนด์ รัฐบาลยังได้เสนอให้เก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกจากการเรอและปัสสาวะของวัว แกะและปศุสัตว์อื่น ๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ภาษีการตั้งชื่อลูก ประเทศสวีเดน

การตั้งชื่อลูกเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว แต่ในประเทศสวีเดน การตั้งชื่อลูกจะต้องตั้งผ่านการตรวจสอบจากเอเจนซีก่อนจะตั้งชื่อลูกได้ ซึ่งเด็กจะต้องมีชื่อก่อนอายุ 5 ขวบ ถ้าผู้ปกครองชาวสวีดิชตั้งชื่อลูกไม่ผ่านตามเงื่อนไข พวกเขาจะโดนปรับ 5,000 kroner หรือประมาณ 20,000 บาท ซึ่งนี่เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในปี 1982 เพื่อป้องกันการตั้งชื่อประชาชนไม่ให้ซ้ำกับชื่อของราชวงศ์ และยังปกป้องเด็กจากชื่อที่ไม่เหมาะสมด้วย

ภาษีความอ้วน ประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมาย “Metabo” ที่โด่งดังในญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40 และ 75 ปีต้องวัดรอบเอวเป็นประจำทุกปี โดยผู้ชายไม่เกิน 85 ซม. และผู้หญิงไม่เกิน 90 ซม. ซึ่งถ้าหากรอบเอวของพวกเขาเกินขนาดที่กำหนด ก็จะต้องจ่ายค่าปรับ

ซึ่งภาษีความอ้วนของญี่ปุ่น ได้รับการชื่นชมว่าเป็นความพยายามที่จะเอาชนะการเพิ่มอัตราโรคอ้วนและยุติการแพร่กระจายของโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

ภาษีตะเกียบ ประเทศจีน

ทุก ๆ ปี ในประเทศจีนจะทำตะเกียบใช้แล้วทิ้งประมาณ 45 พันล้านคู่ เพื่อผลิตตะเกียบจำนวนมากเหล่านี้ ประเทศจีนต้องตัดต้นไม้ประมาณ 25 ล้านต้น 

ในปี 2006 รัฐบาลจีนจึงได้จัดเก็บภาษี 5% สำหรับตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้งเพื่อปกป้องและรักษาป่าไม้ที่โดนตัดทำลายไป เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามาตรการนี้จะส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้ตะเกียบพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้แทนแบบดั้งเดิม

ภาษีหน้าต่าง ประเทศอังกฤษ

ย้อนกลับไป 327 ปีก่อน ในปี 1696 ที่ประเทศอังกฤษมีการเก็บภาษีหน้าต่าง ตามจำนวนหน้าต่างในบ้านแต่ละคน เนื่องจากว่าในสมัยนั้น ประชาชนชาวอังกฤษมีแนวคิดต่อการเก็บภาษีจากรายได้ เพราะคิดว่าการที่ภาครัฐรู้รายได้เป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้ทางการอังกฤษต้องหากลยุทธ์เพื่อใช้ในการเก็บภาษี

ในสมัยนั้นการทำหน้าต่าง ถือว่าเป็นงานที่ค่าใช้จ่ายสูง ทำให้จำนวนหน้าต่างที่มาก แสดงถึงความร่ำรวยของเจ้าของบ้านได้ด้วย ซึ่งภาษีหน้าต่างก็เป็นภาษีที่เก็บกันมาหลายร้อยปี 

โดยอัตราภาษีเริ่มแรกที่มาการเก็บนั้น จะเก็บที่ 2 ชิลลิ่ง กับทุกบ้านที่มีหน้าต่างน้อยกว่า 10 บาน และ ก็จะเก็บเพิ่มเติมกับบ้านที่มีหน้าต่างมากกว่านั้น ทำให้ภาษีหน้าต่างเป็นรูปแบบภาษีแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax) รูปแบบหนึ่ง

หลังจากที่มีการประกาศใช้ภาษีนี้ออกมา ก็ทำให้ผู้คนพยายามที่จะลดจำนวนหน้าต่างลงโดยการโบกปูนปิด ซึ่งภาษีนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นภาษีที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนเช่นกัน จนในปี 1851 ทางการอังกฤษก็ได้ยกเลิกการเก็บภาษีจากหน้าต่าง

ภาษีฝน ประเทศโปแลนด์

ถึงจะชื่อภาษีฝน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับฝนโดยตรง แต่อยู่ที่การแก้ปัญหาท่อระบายน้ำรวมที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลและขยะ จากอาคารบ้านเรือนและบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งระบบกำจัดของเสียรวมก็ไม่อาจทำงานได้เต็มที่ ในช่วงที่มีฝนตกจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นประจำ

โดยประชาชนในเมืองต้องยอมจ่ายภาษีในอัตราเฉลี่ย 10 – 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 306 – 460 บาท) ต่อปี เพื่อให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินภาษีนั้น มาเป็นงบในจัดการกับระบบกำจัดของเสียและการระบายน้ำในพื้นที่ราว 1.5 – 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46 – 61 ล้านบาท) ต่อปี

ภาษี Google ประเทศฝรั่งเศส

อย่างที่รู้กันว่าประเทศในยุโรปค่อนข้างปกป้องความเป็นส่วนตัวมากกว่าสหรัฐอเมริกา เลยมักมีการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจในโซนประเทศยุโรป ประเทศโซนนี้เลยมีแนวโน้มที่จะติดตามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม โดยพวกเขากล่าวว่าบริษัทเหล่านี้กำลังสร้างรายได้จากพลเมืองของตนโดยไม่ต้องจ่ายภาษีตามกำหนด

ในประเทศฝรั่งเศสจึงมีการเก็บภาษีดิจิทัลบริษัทเทคข้ามชาติอย่าง Google, Facebook, Apple ที่มีรายได้มากกว่า 750 ล้านยูโร (850 ล้านเหรียญสหรัฐ) และทำรายได้อย่างน้อย 25 ล้านยูโรในฝรั่งเศส จะต้องเสียภาษีที่อัตรา 3% โดยจะมีผลย้อนหลังไปจนถึงช่วงต้นปี 2019 

ภาษีฟาสต์ฟู้ด ประเทศอินเดีย

รัฐเกรละ (Kerala) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หลังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นรัฐที่มีประชากรเด็กและเยาวชนน้ำหนักเกินเกณฑ์มากเป็นอันดับสองของประเทศในปี 2015 ทางรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีในอาหารอุดมไขมัน หรือ ‘Fat Tax’ 

โดยอาหารที่ตกเป็นเป้าหมายเป็นพิเศษ ได้แก่ เบอร์เกอร์ และพิซซ่า .ึ่งทางรัฐได้เก็บภาษีจากอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 14.5% ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเชนดังอย่าง McDonald และ Domino’ Pizza 

ถึงแม้ว่ามาตรการ ‘Fat Tax’ จะไม่สามารถหยุดยั้งเด็ก ๆ ให้เลิกกินอาหารขยะได้เด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็อาจทำให้ปริมาณการบริโภคลดลงได้ เนื่องจากราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลให้ผู้ปกครองต้องจำกัดในการทาน

ภาษีลูกอม เมืองอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

สายขนมลูกกวาดหวาน ๆ ทั้งหลายที่อยู่ในเมืองอิลลินอยส์คงจะช็อกกันไม่น้อย เพราะขนมหวานทั้งหลายที่ไม่มีส่วนผสมของแป้ง ของเมืองอิลลินอยส์จะถูกคิดภาษีการขายถึง 6.25%

ภาษีเบเกิล เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับชาวนิวยอร์กที่อยากกินขนมปังเป็นมื้อเช้า ไม่ว่าเบเกิลชิ้นนั้นจะหั่นครึ่ง 2 ซีกแล้วหรือมีการเตรียมท็อปปิ้งอย่างครีมชีสบนหน้าเบเกิลแล้ว เบเกิลชิ้นนั้นจะโดนคิดภาษี 8% แต่ถ้าไม่อยากจ่ายภาษีนั้น ก็ต้องยอมกินทั้งขิ้นแบบไม่ผ่า และไม่นั่งกินในร้าน 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่