fbpx
Search
Close this search box.

วิธีรับมือเมื่อหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง และการลงทุนในหุ้นกู้ ก็อาจมีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างที่เราเห็นบ่อย ๆ ในข่าวช่วงนี้ แล้วถ้าหุ้นกู้ที่เราซื้อผิดนัดชำระ แล้วเราจะมีวิธีดำเนินเรื่องอย่างไรให้ได้เงินคืน ครั้งนี้ ACU PAY จะมาบอกขั้นตอนรับมือหุ้นกู้ผิดนัดชำระและขั้นตอนเพื่อให้ได้เงินคืนกัน

เมื่อเราลงทุนหุ้นกู้ ตัวเราจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” และจะได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในรูปของดอกเบี้ย ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงจากการลงทุนนี้ คือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหุ้นกู้ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มักจะเสนออัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงให้กับนักลงทุน ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ มี 2 ประเภท คือ การผิดนัดทางเทคนิค และการผิดนัดจริง

เมื่อเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ เราจะมีตัวแทนที่คอยเรียกร้องค่าเสียหายให้ผู้ถือหุ้นกู้เรียกว่า “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” บุคคลนี้จะเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุนด้วย ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ หรือบังคับหลักประกัน

วิธีรับมือเมื่อหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

ถึงแม้เราจะมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้คอยเป็นตัวช่วยให้กับเรา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ เราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อน ซึ่งมีวิธีตามนี้

  1. หาใบหุ้นกู้ให้เจอ

    เมื่อเกิดเหตุการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระ สิ่งที่สำคัญมากที่ต้องหาให้เจอนั่นคือ ใบหุ้นกู้ หลังจากซื้อหุ้นกู้จะมีใบหุ้นกู้ส่งมาให้ ซึ่งเราควรเก็บไว้ให้ดีอย่าให้หายโดยเด็ดขาด และควรขอในลักษณะไร้ใบหุ้นกู้สำรองไว้ เพราะในวันที่ต้องเรียกร้องหนี้เราต้องใช้ใบหุ้นกู้นั้นเป็นตัวแสดงสิทธิในการดำเนินเรื่อง

  2. รู้ว่า “ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้” คือใคร

    โดยปกติแล้ว ในแต่ละหุ้นกู้จะมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ นั่นก็คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ออกตราสารหนี้ ทำหน้าที่ดูแลสอดส่องว่าผู้ออกหุ้นกู้ “ทำตามเงื่อนไข” ครบหรือไม่ และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีบทบาทสำคัญ ในการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุป และคอยเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่เราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ 

    ดังนั้น การรู้ว่าตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นใครจึงสำคัญ เพราะตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้นั้นเปรียบเสมือนกับบอดี้การ์ด คอยดูแลผลประโยชน์ให้กับเรา ซึ่งเราต้องคอยตามข้อมูลข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่จะส่งมาทางจดหมายลงทะเบียน เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขั้นตอนการดำเนินการ

    ซึ่งเราสามารถดูข้อมูลของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ในส่วนลักษณะตราสาร หรือหน้าปกแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (Filing) หรืออาจค้นหาในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.

  3. ต้องรู้ว่าตัวเองถือหุ้นกู้ประเภทและรุ่นไหน

    เมื่อเรารู้แล้วว่าหุ้นกู้ที่เราซื้อผิดนัดชำระหนี้ ก็ต้องดูว่าหุ้นกู้ที่เราถืออยู่นั้น เป็นหุ้นกู้ประเภทไหน เพราะหุ้นกู้แต่ละประเภทจะมีลำดับในการชำระหนี้ต่างกัน 

    โดยถ้าเราถือหุ้นกู้ คนที่เป็นเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ก่อน กลับกันถ้าเราถือหุ้นสามัญ เจ้าของหรือคนที่ถือหุ้นจะได้รับเงินเป็นกลุ่มสุดท้าย หลังชำระคืนเจ้าหนี้แล้ว

    โดยหุ้นกู้ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนเรียงลำดับก่อน – หลัง คือ หุ้นกู้มีประกัน หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ 

  4. เตรียมตัว เมื่อมีการบังคับชำระหนี้

    ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นคนที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย และจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยชื่อของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจะปรากฏในทะเบียนรายชื่อล่าสุด และเราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ควรจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อม ถ้ามีความจำเป็นจะต้องมีการยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้

  5. ติดตามความคืบหน้าการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ และข่าวสาร

    เราสามารถติดตามความคืบหน้าของผลการบังคับชำระหนี้จาก “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” และควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีสติ เพราะอาจมีข้อมูลที่จริงและไม่จริง และอาจศึกษากฎหมายเพิ่มเติม เช่น นิติบุคคลล้มละลาย เพราะหากถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายก็จะได้เข้าใจกระบวนการ 

    เมื่อเกิดเหตุการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระ เรายังพอมีช่องในการได้รับเงินคืน ดังนั้น เพื่อให้ขั้นตอนการคืนเงินราบรื่น เราควรเตรียมตัวตามขั้นตอนด้านบนและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด 

สุดท้ายแล้วการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ถึงแม้หุ้นกู้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นอื่น ๆ แต่ก็อาจเจอความเสี่ยงอย่างการผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังนั้นก่อนจะลงทุนแต่ละครั้งต้องศึกษาข้อมูล พิจารณาถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ตัวเองสามารถยอมรับได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่