fbpx
Search
Close this search box.

ออกไปใช้ชีวิต กับ การวางแผนเกษียณเร็ว

เมื่อคนรุ่นใหม่อยากออกมาใช้ชีวิตเร็ว ๆ โดยไม่ต้องนั่งทำงานรอวันเกษียณตอนอายุ 60 วันนี้ ACU PAY จะพามาทำความรู้จักการวางแผนเกษียณเร็ว ขั้นตอน และข้อควรระวังในการออมเงินเมื่อต้องการเกษียณเร็ว

เกษียณเร็ว หรือ F.I.R.E คืออะไร

เกษียณเร็ว หรือ F.I.R.E ย่อมาจาก Financial Independence Retire Early  คือ การมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานตั้งแต่อายุไม่มาก โดยการเกษียณเร็วนั้น จะต้องมีการวางแผนการเงินที่มีวินัยกว่าคนทั่วไปมาก ทั้งเน้นการออม และการลงทุนขั้นสูง เพื่อสามารถเกษียณอายุได้ในช่วงอายุ 30 หรือ 40 ปี ได้เร็วกว่าการเกษียณปกติที่อายุ 55 – 60 ปี ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เพราะพวกเขาสามารถออกไปใช้ชีวิตตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ ในขณะที่มีทั้งเงิน แรง และเวลา กลับกันพวกเขาไม่อยากมีชีวิตอิสระในวัยเกษียณ เพราะถึงจะมีเงินให้ใช้มากมาย แต่ก็ไม่มีแรงและเวลาได้ออกไปทำในสิ่งที่ต้องการทันอยู่ดี 

วิธีการเริ่มต้นวางแผนเกษียณ เริ่มอย่างไร ?

  1. ตั้งเป้าหมาย
    ควรกำหนดเป้าหมายเงินไว้ใช้ตอนเกษียณเร็ว ขึ้นอยู่กับสถานะการเงินของคุณในปัจจุบัน จำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้ในอนาคต และการสไตล์การใช้ชีวิตหลังเกษียณว่าต้องการทำอะไร อาจไปปรึกษานักวางแผนการเงิน เพื่อคำแนะนำเพิ่มเติม
  2. ไม่มีหนี้ และมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอ

    หนี้คือสิ่งที่รั้งวัยหนุ่มสาวจากการลงทุนเพื่อการเกษียณ ดังนั้นควรทำการใช้หนี้ให้หมดก่อน ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต ผ่อนบ้านหรือรถ ต่าง ๆ หลังจากนั้นแล้ว จึงเริ่มวางแผนเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เมื่อมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อุ่นใจแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกับแผนออมเงินสำหรับการเกษียณเร็ว 

  3. กำหนดรายจ่าย ลดที่ไม่จำเป็น

    กำหนดรายจ่ายของตัวเอง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด และ กำหนดรายจ่ายต่อปี เช่น การกำหนดรายจ่ายส่วนตัวทั้งหมด 20,000 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับ 240,000 บาทต่อปี

  4. เพิ่มรายได้ หางานเสริม
    อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยทำให้คุณสามารถวางแผนเกษียณได้เร็วขึ้น คือการเพิ่มรายได้ อาจจะมีเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นทำธุรกิจควบคู่กับงานประจำ หรือรายได้จากการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 
  5. ออมเงินให้สุดแล้วหยุดที่สบาย
    การจะเกษียณเร็วได้ คือต้องมีเงินจำนวนมากนอนนิ่ง ๆ อยู่ในนั้น ซึ่งคำแนะนำในการออมคือ เก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 50% ของรายจ่ายทั้งหมดของคุณ ยกตัวอย่างเช่น คุณได้เงินเดือน 40,000 บาท จะต้องมีเงินออมอย่างน้อย 20,000 บาท จะมากเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคุณ
  6. ศึกษาการลงทุนแบบ Passive Investment
    เช่น การลงทุนใน ตราสารหนี้, กองทุนรวมดัชนี หรือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ต่าง ๆ ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ดีและต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนให้ได้เท่ากับ 25 เท่าของรายจ่ายต่อปีของตัวเอง เช่น กำหนดรายจ่ายของเราเองเท่ากับ 240,000 บาทต่อปี ต้องการสร้างพอร์ตให้ได้ 25 เท่า ดังนั้นจะได้เป้าหมายพอร์ตเท่ากับ 6,000,000 บาท
  7. เช็กลิสต์ความคืบหน้า

    เพื่อให้แผนไม่ล่มกลางคัน ควรทำการติดตามความคืบหน้าของเงินเกษียณ เช็กว่ายังขาดเหลือเท่าไหร่ จึงคอยนำไปปรับการออมหรือการลงทุนตามที่ต้องการ 

ข้อระวังก่อนวางแผนเกษียณเร็ว

ความเป็นไปได้ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่กำลังวางแผนจะเกษียณเร็ว และเมื่อรู้ถึงปัญหาก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจเกษียณเร็ว

  1. ระวังระยะเวลาที่ใช้เตรียมเกษียณไม่มาก

    ยิ่งวางแผนเกษียณเร็วขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีเวลาเก็บเงินหรือเตรียมทรัพย์สินเพื่อการเกษียณมากตามไปด้วย แต่กลับกันถ้ามีการวางแผนช้า ก็อาจทำให้การเตรียมเงินเกษียณไม่มากพอตาม ดังนั้น ควรเก็บเงินต่อปีให้มากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของเราด้วย เพราะต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด และทำงานให้หนักขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ถ้าเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ก็จะมีเงินต่อปีมากขึ้นตาม แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย 

  2. เตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไม่เพียงพอ

    อาจเกิดการคำนวณค่าใช้จ่ายคลาดเคลื่อน จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ไม่ได้คำนวณเงินเฟ้อหลังเกษียณ รูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณมีความแตกต่างจากก่อนเกษียณ หรือค่ารักษาสุขภาพที่คำนวณมาน้อยเกินไป ทำให้เมื่อเกษียณไปแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงกว่าที่ประเมินไว้ และหากเจ็บป่วยต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวม

  3. ความไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ของโลก

    การเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โลกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ สงคราม หรือการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่าง ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินหลังเกษียณที่อาจไม่เพียงพอ และเงินลงทุนหรือผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาวก็อาจน้อยลง

  4. สภาวะจิตใจ
    การตัดสินใจเกษียณออกจากงานประจำตั้งแต่อายุน้อย ๆ ส่งผลต่อจิตใจ เพราะเมื่อเกษียณไปแล้วจะทำให้ชีวิตเงียบเหงา เพราะไม่มีงานประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการเข้าสังคม กลับกันการเกษียณเร็ว ควรเป็นการเกษียณที่เราสามารถทำสิ่งที่อยากทำ เติมเต็มในสิ่งที่งานประจำพรากอิสระนั้นออกไป

อย่างไรก็ตามการเลือกเส้นทางที่ ‘ตึงมากเกินไป’ อาจเกิดความเครียดต่อตัวเองและผู้คนรอบข้างได้ ทั้งนี้การวางแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณเร็วนั้น ควรเลือกเส้นทางที่พอดีและเหมาะสมกับรายได้และรายจ่ายของเรา เพื่อให้สามารถวางแผนเกษียณเร็วได้ตามเป้าที่ตั้ง ไม่ท้อก่อน และสามารถนำเวลาที่เหลือหลังเกษียณออกไปใช้ชีวิต ทำตามในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่ต้องมีเงินเป็นตัวขัดขวางความสุข

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่