fbpx
Search
Close this search box.

3 วิธี เช็กสุขภาพการเงินด้วยตัวเอง

สุขภาพการเงินก็เหมือนสุขภาพร่างกายที่ต้องหมั่นเช็กประจำปี ซึ่งถ้าเราอยากรู้ว่าสุขภาพการเงินของเรายังดีอยู่หรือไม่ สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ด้วย 3 วิธีเช็กสุขภาพการเงินด้วยตัวเอง จะมีวิธีดูอย่างไร ตามไปดูกัน

1. ตัวเรามีทรัพย์สมบัติอยู่เท่าไรบ้าง?

การประเมินความมั่งคั่งสุทธิสามารถบอกได้ว่าเรามีพื้นฐานทางการเงินอยู่ในขั้นดีมากน้อยเท่าใด เมื่อเปรียบเทียบกับ “ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี” ซึ่งเราสามารถคำนวณได้ตามนี้

ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน = สินทรัพย์ – หนี้สิน 

สินทรัพย์ มีอะไรบ้าง

  1. สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด และ บัญชีออมทรัพย์ หรือเป็นเงินที่เรานำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ง่ายที่สุด
  2. สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ มูลค่าหุ้นหรือสิ่งที่เราใช้จ่ายไปกับการลงทุน
  3. สินทรัพย์ส่วนตัว เช่น บ้าน รถยนต์ ของมีค่าต่างๆ หรือทรัพย์สินที่มีมูลค่า สามารถนำไปขายต่อได้

หนี้สิน มีอะไรบ้าง

  1. หนี้สินระยะสั้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า หนี้บัตรเงินสดอื่นๆ 
  2. หนี้สินระยะยาว ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เช่น หนี้เงินกู้บ้าน หนี้เงินผ่อนรถยนต์ 

ยกตัวอย่างเช่น 

นางสาว A มีสินทรัพย์ทั้งหมดเท่ากับ 15,000,000 บาท และมีหนี้สินทั้งหมดเท่ากับ 1,000,000 บาท

ดังนั้น ความมั่งคั่งสุทธิปัจจุบัน = 15,000,000 – 1,000,000 = 14,000,000 บาท

หลังจากรู้ “ความมั่งคั่งสุทธิปัจจุบัน” แล้ว ให้นำมาเปรียบเทียบกับ “ความมั่งคั่งสุทธิที่ควรมี” โดยคำนวณตามสูตรนี้

ทรัพย์สินที่ควรมี = อายุ x รายได้ต่อปี x 10%

ยกตัวอย่างเช่น นางสาว A อายุ 40 ปี มีเงินเดือน 70,000 บาท (x 12 เดือน เท่ากับ 840,000 บาทต่อปี)

ดังนั้น ทรัพย์สินที่นางสาว A ควรมี = 40 x 840,000 x 10/100 = 3,360,000 บาท

เมื่อเทียบ“ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน” = 14,000,000 บาท กับ “ทรัพย์สินที่ควรมี” = 3,360,000 บาท หมายความว่า นางสาว A มี “ทรัพย์สินที่มีอยู่ปัจจุบัน” มากกว่า “ทรัพย์สินที่ควรมี” จึงถือว่านางสาว A มีสุขภาพการเงินโดยรวมแข็งแรงดี

2. มีหนี้ต่อเดือน มากเกินไปอยู่หรือไม่?

อีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าสุขภาพการเงินของเรายังดีอยู่หรือไม่ นั่นก็คือหนี้สิน ซึ่งการมีหนี้ก็ไม่เลวร้ายเสมอไปถ้าหนี้นั้นอยู่ในระดับที่พอดี แต่ถ้ามีมากเกินไปก็อาจทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบากได้ โดยวิธีคำนวณหนี้ต่อเดือนสามารถทำได้ตามนี้

ภาระหนี้สินต่อเดือน = รายได้ต่อเดือน x 1/3

หรือก็คือห้ามมีเกินกว่า 1/3 ของรายได้ต่อเดือนนั่นเอง เช่น นางสาว A ที่มีรายได้ 70,000 บาทต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือนที่มีห้ามเกินกว่านั้นคือ ประมาณ 23,333 บาท ซึ่งถ้าหากมีมากกว่านั้น ก็จะต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้ หรือ ลดค่าใช้จ่ายลง

3. มีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน เพียงพอหรือยัง?

เงินออมเผื่อฉุกเฉิน คือเงินก้อนแรกที่ทุกคนควรมี และสามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เกิดอุบัติเหตุ ล้มป่วย หรือตกงานกะทันหัน โดยจำนวนเงินออมฉุกเฉินที่ควรมีนั้นสามารถคำนวณง่ายๆ ได้ดังนี้

เงิมออมเผื่อฉุกเฉิน = รายจ่ายประจำต่อเดือน x 6

ยกตัวอย่าง ถ้านางสาว A มีรายจ่ายต่อเดือน 35,000 บาท เงินออมเผื่อฉุกเฉินที่ควรมีเท่ากับ 210,000 บาท เพื่อเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตกงาน ประสบอุบัติเหตุ นางสาว A ก็สามารถดำรงชีวิตได้อยู่เป็นเวลา 6 เดือนนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือการประเมินสุขภาพการเงินง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสุขภาพการเงินก็เหมือนสุขภาพร่างกาย ที่เราควรหมั่นเช็กและตรวจสอบ เพื่อจะได้รู้ทันถึงปัญหาและหาทางแก้ไขได้ทัน ก่อนที่สุขภาพการเงินจะย่ำแย่ เกิดหนี้สะสมจนแก้ไขอะไรไม่ทัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่