fbpx
Search
Close this search box.

ไขข้อสงสัย ทำไมคนเราไม่ชอบฟังเสียงตัวเอง

เคยไหมอัดเสียงตัวเอง แล้วลองมาเปิดฟัง เสียงที่เราคิดว่าเราเคยได้ยินทุกวัน กลับรู้สึกแสลงหูแปลก ๆ จนแทบไม่อยากเชื่อว่านั่นคือเสียงของเราจริง ๆ จนเราไม่ชอบเสียงตัวเองไปเลย เหตุผลนั้นเป็นเพราะอะไร เดี๋ยวเอซียูเพย์ จะพามาหาคำตอบกัน

เสียงเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและได้ยินมาตลอดชีวิต จึงไม่แปลกใจว่าทำไมใครหลายคนถึงไม่ชอบเสียงตัวเองในคลิปวิดีโอ หรือเสียงที่อัดไว้ เพราะเสียงที่คนอื่นได้ยินเวลาเราพูดนั้น มันแหลมแล้วตลกเอามาก ๆ จนมีคนนิยามเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบเสียงตัวเองนี่ว่า Voice Confrontation หรือ “การเผชิญหน้ากับเสียงของตัวเอง” 

ทำไมเราถึงฟังเสียงตัวเองต่างจากคนอื่นฟังเสียงเรา?

โดยปกติแล้ว เราจะได้ยินคนอื่นพูดผ่านตัวกลางที่เรียกว่า อากาศและเข้าสู่หูของเรา ทำให้กระบอกหูของเราสั่นสะเทือน แล้วสมองของเราก็จะเปลี่ยนการสั่นสะเทือนเหล่านั้นให้กลายเป็นเสียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเป็นฝ่ายพูด หูของเราจะรับเสียงจากสองแหล่ง อันแรกเป็นเสียงที่ได้ยินจากภายนอก เหมือนกับเราฟังเสียงคนอื่นพูดปกติ ส่วนแหล่งที่สองเป็นเสียงที่ได้ยินภายในกะโหลกศีรษะของเรา ที่เกิดจากการสั่นของเส้นเสียง 

การสั่นของเส้นเสียงนี่เองจะผ่านกระดูกกะโหลกของเราและเข้าไปยังกระบอกหู หรือที่เรียกว่า “การได้ยินผ่านกระดูก” (Bone Conduction) นั่นเอง ซึ่งการได้ยินผ่านกระดูกจะมีความถี่ต่ำกว่า ทำให้เสียงที่เราได้ยินเองนั้น จะนุ่มและต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง

ดังนั้นเวลาเราได้ยินเสียงตัวเองที่อัดไว้ เราจะได้ยินเสียงเวอร์ชันที่ผ่านจากอากาศ เสียงทุ้มต่ำที่ได้ยินผ่านกระดูกนั้นหายไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเสียงที่เราได้ยินค่อนข้างแหลมสูง

แล้วทำไมเราถึงไม่ชอบเสียงของตัวเอง?

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ Silke Paulmann หัวหน้าภาคคณะจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยเอสเซส เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Guardian ไว้ว่า เหตุผลที่เราต่างไม่ชอบเสียงแหลม ๆ ของตัวเอง นั่นก็เป็นเพราะว่าเสียงที่เราได้ยินนั้นไม่ตรงกับความคาดหวังข้างในจิตใจของเรา เสียงของเรานั้นเปรียบเสมือนบทบาทสำคัญในการสร้างบุคลิกอันเฉพาะตัว และคงไม่มีใครชอบที่ตัวที่เราเป็นไม่เหมือนกับตัวที่เราคิดไว้แน่ ๆ 

นอกจากนี้มีงานวิจัยหนึ่งได้ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองฟังเสียงอัดของตัวเอง มีผู้เข้าร่วมเพียง 38% เท่านั้นที่สามารถจำเสียงตัวเองได้ทันที ในขณะที่คนอื่นต้องใช้เวลาสักพักหรือไม่สามารถระบุเสียงตัวเองได้เลย ซึ่งการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าเรามักจำเสียงในหัวของตัวเองผ่านภาพที่สร้างมากกว่าความจริงที่คนอื่นได้ยิน 

สรุปแล้วเราทุกคนนั้นจะได้ยินเสียงของตัวเองผ่านการผสมผสานระหว่างสองเสียงแหล่งที่มานั่นก็คือภายนอก (เสียงที่ผ่านอากาศ) และภายใน (เสียงที่ผ่านกระดูก) นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเราได้ยินเสียงของตัวเองในเครื่องอัดเสียง หรือในวิดีโอติ๊กต๊อกถึงแปลกออกไป เพราะเสียงที่ตัวเราได้ยินนั้นแตกต่างจากเสียงที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่