fbpx
Search
Close this search box.

Karoshi Syndrome โรคทำงานหนักจนตาย! โรคฮิตของชาวญี่ปุ่น

เพื่อนๆหลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย” แต่ความจริงแล้วนั้นตรงกันข้ามเลยค่ะ เพราะมีหลายเคสพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “งานหนักทำให้คนตายได้” หากเพื่อนๆ คือคนหนึ่งที่ทำงานหนัก จนทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย หมดกำลังใจในการทำงาน สุขภาพจิตไม่ดี สุขภาพกายพัง นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังมีอาการ Karoshi Syndrome มาดูกันค่ะว่า เพื่อนๆ กำลังมีอาการแบบนี้อยู่หรือเปล่า และจะมีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง

Karoshi Syndrome คืออะไร

โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) หรือโรคทำงานหนักจนตาย เป็นอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เครียดสะสม จนทำให้เสียสุขภาพ และอาจเกิดอาการร้ายแรงที่นำไปสู่ชีวิต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น

คำคำนี้มีจุดเริ่มต้นจากภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า “คาโรชิ” เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากที่มีข่าวพนักงานของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก นอกจากนี้ ยังมีพนักงานบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังระดับประเทศ ที่ทนความตึงเครียดจากการทำงานไม่ไหว จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ “ผลกระทบ” จากการทำงานที่มากเกินพอดีกันมากขึ้น

หากทำความเข้าใจง่ายๆ “โรคคาโรชิ”  ก็หมายถึงภาวะทำงานหนักจนตาย หรือที่หลายคนเรียกว่า “โรคบ้างาน” ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่ง หากแต่เรียกภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลียอย่างหนักจากการทำงานมากเกินไป จนอาจนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตในภายหลังได้

สาเหตุของการเกิดโรค Karoshi Syndrome

สาเหตุการเสียชีวิตจากการเกิด Karoshi Syndrome จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

  • การตายเพราะโรค
  • ตายเพราะความเครียดสะสม

เนื่องด้วยจากการทำงานอย่างหนักหน่วงทำให้ร่างกายไม่ได้หยุดพัก การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ร่างกายขาดสารอาหารหรืออดอาหาร ในผู้ที่บ้างานต้องรอให้งานเสร็จเสียก่อนที่จะกินข้าวได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายไม่อาจทนต่อการเกิดโรค ในกรณีที่มีความเครียดก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจอย่างร้ายแรง กดดันตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ทำให้หดหู่และสุดท้ายก็จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย

อาการโรค Karoshi Syndrome

  • คิดหมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา เหมือนสมองไม่ได้พักผ่อน บางครั้งอาจเก็บไปฝัน
  • ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
  • ใช้เวลาในการทำงานเยอะมาก เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่สามารถลางานได้ ไม่มีโอกาสลางาน หรือแทบไม่ได้ใช้วันลา ทั้งลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจ
  • เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน
  • แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน
  • นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • แทบไม่มีเวลาพักผ่อน จำไม่ได้ว่าได้พักผ่อนจริง ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
  • ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนที่เรารัก

อาการดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายเรื้อรังอื่นๆ ตามมา โดยข้อมูลจาก WHO เผยว่าคนในช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19%

วิธีป้องกัน Karoshi Syndrome

  • จัดลำดับความสำคัญของงาน
  • แบ่งเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตให้ชัดเจน
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ
  • กำหนดเวลาพักระหว่างการทำงาน การทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า
  • ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์
  • พูดคุยกับหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลให้ชัดเจนเมื่อมีปัญหาในการทำงาน

สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่เป็น Workaholic ต้องเตือนตัวเองเลยนะคะ ให้หาเวลาพักบ้าง การตั้งใจทำงาน การมีแพชชั่นกับงานเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่โหมงานหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำงานจนรู้สึกล้า ก็อาจจะเสี่ยงให้เกิดโรคคาโรชิได้ ฉะนั้นเลือกเดินทางสายกลางอยู่ในความพอดีดีกว่าอย่าให้การทำงานมาเป็นภัยต่อสุขภาพเลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่