fbpx
Search
Close this search box.

ภาษีการรับมรดกคืออะไร ใครเป็นคนจ่าย?

หลายคนอาจเคยเห็นในละครเวลาตัวเอกได้รับมรดกก้อนโต ดูแล้วคงใช้เงินแบบไม่มีภาระอะไรแล้วแน่ ๆ แต่ความจริงแล้ว เงินที่พวกเขาได้มาต้องนำไปแบ่งจ่ายภาษี กรณีถึงเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ว่าจะได้รับจากคนในครอบครัวหรือนอกสายเลือด ไม่เช่นนั้นอาจผิดกฎหมายได้ ครั้งนี้ ACU PAY จะพามาทำความรู้จักภาษีมรดก เงื่อนไข และการชำระภาษีนี้กัน

ภาษีมรดกคืออะไร?

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) หรือ ภาษีมรดก เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี หากได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งภาษีมรดกมักมาพร้อมกับ ภาษีการรับการให้ หรือภาษีที่ต้องจ่ายกรณีผู้ให้มรดกยังไม่เสียชีวิต 

โดยทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1. อสังหาริมทรัพย์ 

เช่น บ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยรวมในประเทศไทย และ ต่างประเทศ 

2. หลักทรัพย์ 

เช่น หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ

3. เงินฝาก

หรือ เงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ

4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน 

เช่น รถยนต์ เรือ รถจักรยานยนต์ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศค่ะ

5. ทรัพย์สินทางการเงินอื่น ๆ (หากมีการประกาศเพิ่มในอนาคต)

ซึ่งอัตราค่าเก็บภาษีมรดกแบ่งออกเป็น 5% และ 10% ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรตั้งไว้

โดยผู้รับมรดกต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกจะเหลือเพียงทรัพย์สินที่อยู่ในไทยเท่านั้น

อัตราการเสียภาษีมรดก

สำหรับอัตราในการเก็บภาษี “ภาษีมรดก” นั้น ให้คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สิน – หนี้สิน เกินกว่า 100 ล้านบาท โดยจัดเก็บภาษีในอัตราที่คงที่ ดังนี้

  • สำหรับบุคคลที่รับมรดกเป็นบุพการี เช่น พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย หรือ ผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน จะได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีคงที่ 5% 
  • สำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางผู้ให้มรดก จะต้องเสียภาษีในอัตราคงที่ 10% 

กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก

  • กรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นสามีหรือภรรยาของผู้ให้มรดก และได้มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีมรดก
  • หากยกมรดกให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือ ส่วนของสาธารณะ มรดกนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เช่นเดียวกัน

การยื่นภาษี

ผู้รับมรดกต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และต้องชำระภายใน 150 วัน นับจากวันที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท กรณีที่ไม่สามารถจ่ายภาษีเต็มจำนวนได้ กฎหมายอนุโลมให้ผู้ได้รับมรดกยื่นเรื่องผ่อนชำระการจ่ายภาษีมรดกได้สูงสุดถึง 5 ปี และถ้าสามารถจ่ายภาษีจนหมดภายในเวลา 2 ปี จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกด้วย

การเรียกคืนภาษีมรดก

กรณีที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีมรดกหรือจ่ายเกินจำนวน เราจะรักษาผลประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ข้อกฎหมายได้คำนึงถึงจุดนี้ไว้แล้ว โดยผู้จ่ายภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก โดยใช้คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ภายใน 5 ปีนับแต่วันชำระภาษีทั้งหมด ซึ่งต้องยื่นพร้อมเอกสารอีก 3 อย่าง นั่นคือ

  1. ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก
  2. หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกไว้เกิน
  3. หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

เพียงเท่านี้เราก็จะได้ภาษีคืนทุกบาททุกสตางค์ตามที่สมควร

บทลงโทษสำหรับผู้เลี่ยงภาษีมรดก

  • หากผู้ได้รับมรดกไม่ยื่นภาษีโดยเหตุสมควร มีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าจากภาษีที่ต้องจ่าย
  • ผู้ได้รับมรดกยื่นภาษีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 5 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย

โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงความรู้โดยคร่าว ๆ เกี่ยวกับภาษีมรดก ยังมีข้อมูลและรายละเอียดย่อยอีกมากให้ลองไปศึกษาเพิ่มเติม เพียงเท่านี้เราก็สามารถดูละครได้อย่างเข้าใจแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสรรพากร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่