fbpx
Search
Close this search box.

หนี้สาธารณะไทยพุ่ง เสี่ยงแตะเพดานภายใน 10 ปี

ปัญหาหนี้สาธารณะ” กลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีวิจัยวิเคราะห์แนวโน้มออกมาว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสแตะเพดานหนี้สาธารณะสูงถึง 70% ต่อ GDP ภายใน 10 ปี 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ออกมาเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับ ปัญหาหนี้สาธารณะไทยว่า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นจากระดับหนี้ที่ปรับสูงขึ้นมากหลังวิกฤตโควิด-19 และการขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มจะแย่ลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง ขาดดุลเรื้อรัง

จากข้อมูลของ KPP Research รัฐบาลไทยมีการ ‘ขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง’ หรือมีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปี โดยขาดดุลการคลังทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีที่ 2.8% ของ GDP และทำให้หนี้สาธารณะของไทยเติบโตขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 7 – 8% 

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาหนี้สาธารณะมี 3 ประการ คือ

  1.  การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ
    ซึ่งสาเหตุที่ประเทศไทยเก็บรายได้ภาษีได้ต่ำมีหลายปัจจัย อย่างเช่น จากขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ที่มีขนาดใหญ่ แรงงานส่วนมากประกอบอาชีพอิสระและอยู่นอกระบบภาษี อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่น
  2. สัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ในระดับสูงถึง 80%
    กลับกันงบประมาณถูกจัดสรรมีเพียง 20% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น และใช้ไปกับการลงทุนเพียงแค่ประมาณ 14% ของการเบิกจ่ายทั้งหมด ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความล่าช้าของโครงการลงทุนที่ทำให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ในระดับต่ำ จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณของไทยอาจมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้น้อย
  3. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มสูงขึ้น  เนื่องจากการเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาลที่จะลดลง
    โดยเฉพาะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ขณะเดียวกันรายจ่ายของภาครัฐ อย่าง สวัสดิการและสังคมสงเคราะห์กำลังจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ผลกระทบหากไม่มีวินัยการคลัง

ประสบการณ์ในอดีตของหลายประเทศชี้ให้เห็น ว่าการหละหลวมในการบริหารการคลังและการไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้ทัน จะส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 3 ด้าน ได้แก่

  1. ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลัง (fiscal space) ลดลง ซี่งที่ผ่านมาระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่เคยปรับลดลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เลย และเมื่อเทียบกับช่วงโควิด รัฐบาลได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP ทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หากเกิดวิกฤตขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
  2.  ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น เพราะความน่าเชื่อถือลดลง หากรัฐบาลมีการก่อหนี้สูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่มีแผนการชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทำให้นักลงทุนอาจเรียกร้องผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ (risk premium)
  3. การไหลออกของเงินทุนต่างชาติรวมถึงเงินทุนในประเทศ การอ่อนค่าของค่าเงิน และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้ยืมหนี้สกุลต่างประเทศสูงและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามาก

ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

งานวิจัยของ KKP Research ชี้ว่า นโยบายการให้เงินอุดหนุน ที่ถึงแม้ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่กลับสร้างภาระระยะยาวให้กับรัฐ อย่าง ภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้การปรับลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคตทำได้ยากขึ้น

โดย KKP Research ได้คำนวณว่า การดำเนินนโยบายแจกเงินอุดหนุนนี้ จะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับเพดานหนี้ 70% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี

ความท้าทายขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญ

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยกำลังจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยนอกจากระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะมาซ้ำเติมการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างแล้ว ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเลวร้ายลงไปอีก

ความท้าทายทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องหาทางลดหรือควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ใต้เพดานใหม่ที่กำหนด ในขณะเดียวกันก็หาทางนำเงินที่มีไปลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้รัฐบาลสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาการกู้เงิน

สุดท้ายแล้วปัญหาหนี้สาธารณะอาจมาเร็วกว่าที่คิด และการแก้ปัญหาก็อาจใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่