fbpx
Search
Close this search box.

แชร์ทริค ออมเงินตามเป้าหมาย 3 ระยะสั้น กลาง ยาว

ชีวิตคนเราก็เหมือนกับการเดินทาง ต่างต้องปักเส้นทางไปยังจุดหมาย การตั้งเป้าหมายในการออมเงินก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งครั้งนี้ ACU PAY จะมาแชร์ทริคการออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย 3 ระยะ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว ก็ทำสำเร็จได้ โดยวางแผนตามนี้

การวางแผนการออมเงิน

เป้าหมายการเงิน เปรียบเหมือนกับตัวกำหนดทิศทางที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายที่เราจะต้องการจะลงมือทำ ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินได้นั้น เราต้องมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน โดยเราสามารถนำหลักการ SMART มาช่วยในการตั้งเป้าหมายที่ดีให้กับเราได้ โดยเป้าหมายที่ดีนั้นต้องมีความชัดเจน (Specific) วัดผลได้ (Measurable) สามารถเป็นจริงได้ (Achievable) สอดคล้องกับความเป็นจริง (Realistic) และมีการกำหนดกรอบเวลา (Timely) ซึ่งจะช่วยให้การตั้งเป้าหมายของเรานั้นชัดเจนขึ้น และกระตุ้นให้เราอยากไปให้ถึงเป้าหมายนั้นมากขึ้น

เป้าหมายทางการเงินแบ่งออกเป็น 3 ระยะตามนี้

  1. กำหนดเป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี)

    เป้าหมายระยะสั้นนั้น เป็นการออมเงินที่ต้องการทำให้เกิดขึ้นจริงภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี จึงมักเป็นแผนที่ใช้เงินไม่มากเท่าไหร่ และช่วยตอบสนองความสุขหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ อย่างเช่น อยากเก็บเงินไปท่องเที่ยว ไปพักผ่อนกับครอบครัว คนที่รัก หรือการซื้อความสุขเล็ก ๆ ให้ตัวเอง ยังรวมไปถึงการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับค่าใช้จ่าย 3 – 6 เดือน

    วิธีการออมเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายระยะสั้นเพื่อเป็นการเริ่มต้นจะเป็นการออมแบบที่ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดระยะยาวและสามารถนำเงินออกมาใช้ทำตามเป้าหมายได้ แนะนำพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวัง ลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางและมีสภาพคล่อง อย่างเช่น บัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

  2. กำหนดเป้าหมายระยะกลาง (3 – 7 ปี)

      เป้าหมายระยะกลางก็เหมือนตัวกำหนดเงินออมอีกก้อนที่เราต้องแบ่งสัดส่วนเอาไว้ โดยเป้าหมายในระยะนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จในช่วง 3 – 7 ปี เช่น มีแพลนแต่งงานอีก 3 ปีข้างหน้า ตั้งใจจะซื้อรถสักคัน หรืออยากซื้อบ้านสักหลังให้พ่อแม่ ซึ่งเงินออมนี้เป็นเงินที่ต้องการใช้ในอนาคตอันใกล้และต้องใช้เงินก้อนใหญ่

    เป้าหมายระยะกลางนี้ ทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนดังกล่าวในช่วงนี้ จึงสามารถใช้วิธีการออมเงินหรือลงทุนด้วยวิธีการอื่นนอกเหนือจากเงินฝากออมทรัพย์ได้ เช่น ใครไม่ชอบความเสี่ยงสามารถเปิดบัญชีฝากประจำปลอดภาษีแบบ 24 หรือ 36 เดือนเพื่อออมอย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับใครที่รับความเสี่ยงไหว อยากได้ผลตอบแทนสูง ก็แนะนำให้ลงทุนพอร์ตที่มีความเสี่ยงปานกลาง อย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม เพื่อเก็งกำไรระยะยาวหรือรอรับเงินปันผลได้ โดยแนะนำให้เลือกตัวที่มั่นใจ และคุณต้องมีกลยุทธ์ในการลงทุนที่ดี จะได้ไม่เสียเงินต้นและมีเงินสำหรับไปทำตามเป้าหมายเมื่อถึงเวลา

  3. กำหนดเป้าหมายระยะยาว (7 ปีขึ้นไป)
    เป็นเป้าหมายการออมที่ช่วยการันตีความมั่นคงในชีวิต และต้องใช้ระยะเวลานาน เช่น วางแผนออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ วิธีการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาวนั้น จำเป็นต้องแบ่งเงินหลายส่วนไปเก็บออมหรือ ลงทุนในระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันเพื่อกระจายความเสี่ยง แนะนำพอร์ตลงทุนความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เน้นการลงทุนในรูปแบบของการสะสมทรัพย์ อย่างเช่น กองทุนรวม RMF และ SSF ที่เน้นการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ หุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ นอกจากนี้อาจหาประกันชีวิตหรือประกันสะสมทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมเรื่องค่ารักษาพยาบาลและเงินคืนเมื่อครบกำหนดอายุสัญญา

ยกตัวอย่างการวางแผนออมเงิน

สัดส่วนการเก็บเงิน อาจใช้สูตรเก็บเงินฉบับพนักงานออฟฟิศ 50-30-20 โดยอย่างน้อย 20% ของเงินเดือนนั้นจะกลายมาเป็นเงินออมเพื่อเป้าหมายในระยะต่าง ๆ ที่เราตั้งไว้นั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรามีเงินเดือน 35,000 บาท ทำการแบ่งออม 20% (7,000 บาท) ตามเป้าหมายทางการเงินระยะสั้น กลาง ยาว จะสามารถแบ่งเงินออมออกเป็น 3 ส่วน ได้ดังนี้

  • เป้าหมายระยะสั้น : ออมเงินสำรองฉุกเฉิน 20% (1,400 บาท) เผื่อกรณีเจ็บป่วยหรือตกงาน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เก็บไว้ในที่สภาพคล่องสูงอย่างบัญชีออมทรัพย์
  • เป้าหมายระยะกลาง : ออมเงินเรียนปริญญาโท 50% (3,500 บาท) อาจเลือกลงทุนในพอร์ตลงทุนความเสี่ยงปานกลาง อย่างกองทุนรวมตราสารหนี้
  • เป้าหมายระยะยาว : ออมเงินเกษียณอายุ 30% (2,100 บาท) อาจเลือกลงทุนในกองทุน RMF และ SSF ที่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ด้วยทั้งนี้สัดส่วนสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน

จะเห็นได้ว่าการตั้งเป้าหมายการออมเงินจะช่วยให้เราสามารถกำหนดและวางแผนอนาคตได้ง่ายขึ้น รู้ได้ว่าเราทำตามเป้าหมายถึงไหนแล้ว มีเงินเก็บตามเป้าหมายที่หวังไว้หรือยัง แล้วอย่าลืมลองไปทำตามกันนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่