fbpx
Search
Close this search box.

สำรวจหุ้นไทยสุดแกร่งอายุเกิน 100 ปี

หุ้นไทยอายุมากกว่า100ปี

ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวนภายในระยะเวลาไม่กี่10 ปี ธุรกิจมากมายได้ล้มหาย ทยอยปิดกิจการกันมานักต่อนัก แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจที่ผ่านสภาวะเศรษฐกิจมาหลายยุคหลายสมัยกว่า 100 ปี แล้วละก็ จะยังมีบริษัทที่ยังคงทนผ่านร้อนผ่านหนาวได้ยาวนานขนาดนี้อยู่ไหม

ซึ่งวันนี้ ACU PAY จะพามาสำรวจ 6 หุ้นไทย ที่ผ่านอุปสรรคมาหลายสภาวะเศรษฐกิจ ทนยืนหยัดเป็นระยะเวลา 100 กว่าปีเข้าแล้ว แล้วจะมีบริษัทอะไรบ้าง มาดูกัน 

หุ้นไทยอายุมากกว่า100ปี

1. หุ้น OHTL บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน) อายุ 147 ปี

บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจบริหารโรงแรมและร้านอาหาร ในกลุ่มโรงแรม ได้บริหารโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาปี 2419 ยังมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เลอ นอร์มังดี ศาลาริมน้ำ ลอร์ดจิม และแบมบู บาร์ และธุรกิจให้บริการซักรีดเสื้อผ้าและบริหารร้านแมนดารินโอเรียลเต็ลช็อป ขายขนมอบต่าง ๆ 

เดิมทีโรงแรมมีชื่อว่า ‘โอเรียนเต็ล’ สร้างขึ้นโดยทหารชาวเดนมาร์ก 2 คน หลังจากนั้นได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในนาม ‘บริษัท ไทยโรงแรม จำกัด’ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 60 ล้านบาท และเกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของอีกหลายครั้ง ซึ่งในระหว่างนั้น โรงแรมแห่งนี้ก็ได้อยู่รอดผ่านวิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วด้วย 

จากนั้นในปี 2510 กลุ่มบริษัทอิตัลไทย ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท และในปี 2517 ได้ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท Jardine Matheson โดยให้ Hong Kong Land Ltd. เข้าถือหุ้นในฐานะตัวแทน 

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในปี 2528 เมื่อ Hong Kong Land Ltd. ได้โอนหุ้นของบริษัทให้ Mandarin Oriental Holdings B.V. ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการบริหารจัดการโรงแรม ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Jardine Matheson 

ในปี 2531 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โรงแรมโอเรียนเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด’ และได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 160 ล้านบาท จากนั้นในปี 2536 บริษัทได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จนในปี 2551 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน)’ และได้เปลี่ยนชื่อทางการค้าจาก ‘โรงแรมโอเรียนเต็ล’ มาเป็น ‘โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล’

สำหรับผลประกอบการหุ้น OHTL ในปี 2566 นี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 7.07 พันล้านบาท

2. หุ้น BGRIM บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อายุ 145 ปี

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในเครือ บี.กริม กรุ๊ป หรือ B.GRIMM บี.กริม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2421 โดยชาวยุโรป 2 คนคือ คุณแบร์นฮาร์ด กริม (Bernhard Grimm) เภสัชกรชาวเยอรมัน และคุณแอร์วิน มุลเลอร์ (Erwin Mueller) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท บี.กริม ซึ่งเป็นชื่อของผู้ก่อตั้ง (แบร์นฮาร์ด กริม) และใช้มาถึงทุกวันนี้ 

โดยแรกเริ่มเปิดร้านขายยาชื่อ “สยามดิสเป็นซารี่” (Siam Dispensary)  บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นร้ายขายยาสมัยใหม่แห่งแรกในไทย จากนั้นได้ขยายไปทำธุรกิจด้านวิศวกรรม เป็นผู้ขุดคลองรังสิต และเป็นผู้ก่อสร้างระบบโทรเลขในประเทศไทย  

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันตกเป็นเชลยของรัฐบาลอังกฤษ ส่งผลให้ บี.กริม เกิดวิกฤติครั้งสำคัญ อยู่ในสถานะลำบากในการดำเนินธุรกิจ ถึงขนาดผู้บริหารและครอบครัวถูกส่งไปค่ายกักกันในประเทศอินเดีย จนเมื่อสงครามสิ้นสุดลง บี.กริม จึงกลับมาดำเนินกิจการในไทยอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม บี.กริม สามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากคนในตระกูลลิงค์ ที่เดินหน้าขยายกิจการไปสู่ด้านธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงร่วมทุนกับบริษัทชื่อดังของโลกอีกหลายแห่ง พร้อมนำกิจการด้านพลังงานเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ใช้ชื่อย่อ BGRIM ซึ่ง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 BGRIM มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) อยู่ที่ 6.36 หมื่นล้าน 

3. หุ้น BJC บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) อายุ 141 ปี

จุดเริ่มต้นของบีเจซี (ฺBJC) หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2425 มาจากหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งระหว่างตระกูลเบอร์ลี่และตระกูลยุคเกอร์ ที่นายอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ (Albert Jucker) และนายเฮนรี่ ซิกก์ (Henry Sigg) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้ร่วม ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ‘ยุคเกอร์ แอนด์ ซิกก์ แอนด์โก’ (Jucker, Sigg and Co.) หนึ่งในบริษัททางการค้ายุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในตอนนั้น เป็นกิจการเกี่ยวกับ โรงสีข้าว เหมืองแร่ ไม้สัก การเดินเรือ การนำเข้า และกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ

จุดเปลี่ยนธุรกิจที่สำคัญของ BJC เกิดขึ้นเมื่อปี 2508 ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานแบบหุ้นส่วนภายในครอบครัวมาเป็นแบบบริษัท ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด’ หลายสิบปีต่อมา ในปี 2544 กลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BJC จนบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจนำเข้าและส่งออกรายหนึ่งของประเทศไทย รวมถึงได้ขยายธุรกิจไปสู่ด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์

BJC ถือว่าเป็นหนึ่งบริษัทที่สร้างประวัติศาสตร์ในตลาดหุ้นไทย เพราะเป็น 1 ใน 8 บริษัทแรกที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดย วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 BJC มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) อยู่ที่ 1.08 แสนล้านบาท

4. หุ้น OSP บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) อายุ 132 ปี

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2434 เริ่มต้นจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็งที่มีชื่อว่า ‘เต๊ก เฮง หยู’ ซึ่งก่อตั้งโดย นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ โดยขายสินค้าที่เป็นที่เลื่องลือของผู้คนในสมัยนั้นอย่าง ยากฤษณากลั่นตรากิเลน ยาทัมใจ อุทัยทิพย์ 

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2492 ด้วยธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงนำไปสู่การขยายฐานการผลิต ด้วยการจัดตั้งโรงงานฝ่ายผลิตย่านซอยหลังสวน โดยติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อรองรับการผลิตที่เติบโต และยังเป็นปีที่ได้จดทะเบียนบริษัท และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด’ นับเป็นการก้าวเข้าสู่วงการในฐานะองค์กรอย่างเต็มตัว

ถึงโอสถสภาจะผลิตยาสามัญประจำบ้านหลายชนิด แต่ก็ยังคงพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดอยู่เสมอ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ M-150 

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2538 บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท โอสถสภา จำกัด’ พร้อมกับความสำเร็จในการขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่าเดิม ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์โอสถสภาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี 

จนในปี 2561 บริษัท โอสถสภา จำกัด ได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ OSP ซึ่ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 OSP มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) 7.06 หมื่นล้าน

5. หุ้น SINGER บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) อายุ 134 ปี

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ก่อตั้งในปี 2432 โดยบริษัท ซิงเกอร์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้แต่งตั้งให้บริษัท เคียมฮั่วเฮง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรเย็บผ้า SINGER ในประเทศไทย ต่อมาในปี 2448 ได้มีการจัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า ‘บริษัท ซิงเกอร์ โซอิ้ง แมชีน จำกัด’ เพื่อขายจักรเย็บผ้าและสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจักรเย็บผ้า

ต่อมาในปี 2468 บริษัทได้ให้บริการเช่าซื้อจักรเย็บผ้า โดยสามารถผ่อนชำระเป็นงวดได้ จนทำให้จักรเย็บผ้าแบรนด์ SINGER ยิ่งเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น และหลังจากขายจักรเย็บผ้า ซิงเกอร์ก็ขยายธุรกิจไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน แล้วจัดตั้ง บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า SINGER 

สำหรับผลประกอบของทาง SINGER ล่าสุดมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 9.28 พันล้านบาท 

6. หุ้น SCB บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) อายุ 117 ปี

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ (Siam Commercial Bank of Thailand) เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ของไทยกิจการของธนาคารเริ่มต้นขึ้นในนาม ‘บุคคลัภย์’ (Book Club) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2447 ก่อตั้งโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เนื่องจากขณะนั้นเชื่อว่า สยามจำเป็นต้องมีระบบการเงินธนาคาร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ 

หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้จัดตั้ง ‘บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด’ เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 มกราคม 2449 จนในปี 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ The Thai Commercial Bank, Limited

ถือได้ว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารที่ทันสมัยที่สุดของประเทศในยุคนั้น โดยเริ่มให้บริการเงินด่วน ด้วยเครื่อง ATM เป็นครั้งแรก ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีบริการทางด้าน การเงินครบวงจรให้กับลูกค้าทุกประเภท ทั้งที่เป็น บริษัทขนาดใหญ่ วิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกค้ารายย่อย 

โดยเมื่อปี 2564 SCB Group ได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยจัดตั้ง SCBX ขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ และเข้าตลาดหลักทรัพย์แทน SCB เดิม เพื่อเพิ่มความคล่องตัว สู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคด้านธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์ม สำหรับผลประกอบของทาง SCB ล่าสุดมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 3.34 แสนล้านบาท

ในปี 2568 ความคาดหวังของ SCB คือการสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน  การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่