fbpx
Search
Close this search box.

รวม ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ ทำลายระบบนิเวศ สู่เมนูจานเด็ดของคนไทย

เอเลี่ยนสปีชีส์

เอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศ สร้างความเดือดร้อนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แต่มีอยู่ประเทศนึงที่ทำให้ชีวิตของเอเลี่ยนสปีชีส์ถึงจุดอวสานได้ ก็คือคนไทยบ้านเรานี้แหละ ที่น่ากลัวว่าเอเลี่ยนสปีชีส์ทุกชนิด เปลี่ยนผู้รุกรานต่างถิ่น ให้กลายเป็นเมนูสุดอร่อย จนสูญพันธุ์กันไปข้างนึง 

ครั้งนี้เอซียูเพย์จะพาส่อง เอเลี่ยนสปีชีส์ จากตัวทำลายระบบนิเวศ สู่เมนูจานเด็ดของคนไทย ที่ต่างชาติเห็นแล้วต้องอึ้ง

เอเลี่ยนสปีชีส์คืออะไร

เอเลี่ยนสปีชีส์” (Alien Species) คือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในพื้นที่สิ่งแวดล้อมนั้น ๆ แต่มาจากการนำเข้ามา หรือแพร่กระจายพันธุ์เข้ามา สร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เสียหายของระบบนิเวศดั้งเดิม เกิดเป็นปัญหาให้กับเกษตรกรในหลาย ๆ ประเทศ

เอเลี่ยนสปีชีส์มีด้วยกัน 2 ประเภท

ประเภทที่ไม่รุกราน

เป็นประเภทที่ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาขัดขวางระบบนิเทศหรือมีผลต่อระบบนิเวศโดยตรงเป็นสายพันธุ์ที่อยู่แบบไม่แข่งขันหรือขัดขวางการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาจีน เป็นต้น

ประเภทที่รุกราน

เป็นประเภทที่ชอบการแข่งขันและมันส่งผลต่อระบบนิเวศทางตรงที่สำคัญเป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตพื้นเมือง ได้แก่ ตั๊กแตนปาทังก้า ปลาดุกบิ๊กอุย หอยเชอรี่ เป็นต้น

ตั๊กแตนปาทังกา

“ตั๊กแตนปาทั้งกา”ถือว่าเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจที่สร้างความเสียหายมาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาที่ฝูงตั๊กแตกทำลายผลผลิตทางการเกษตรจนทำให้ชาวแอฟริกาอยู่ในภาวะอดอยากกว่า 8 ล้านคน ก่อนจะเริ่มลุกลามเข้ามาสู่อินเดียและปากีสถาน

จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2525-2530 ตั๊กแตนปาทังกาฝูงใหญ่อพยพเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอย่าง ข้าวโพด มันฝรั่ง ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง หลายจังหวัดถูกประกาศให้เป็นเขตระบาดของตั๊กแตน 

รัฐบาลในสมัยนั้นมีแผนจะพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำราบเหล่าแมลงร้ายให้สิ้นซาก แต่ชาวบ้านดันค้นพบวิธีการที่รวดเร็วกว่า นั่นคือการจับไปทอดลงน้ำมันร้อน ๆ เหยาะซอสปรุงรส โรยพริกไทยสักหน่อย ก็กลายเป็นเมนูอาหารว่างสุดอร่อย จนทำให้การรุกรานของตั๊กแตนปาทังกาต้องจบลง

แต่ถึงอย่างนั้น รสชาติอันถูกปากคนไทย เลยต้องมีการนำเข้า ตั๊กแตนปาทังกาจากต่างประเทศ มาทำฟาร์มเพื่อการค้าโดยเฉพาะ

หอยเชอรี่

“หอยเชอรี่” เป็นหอยน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยประเทศไทยรับหอยชนิดนี้มาจากญี่ปุ่นและไต้หวันอีกที เพื่อนำมากำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา และกลายเป็นหอยที่นิยมเลี้ยงในช่วงปี 2530

มีการปล่อยหอยเชอรี่สู่ธรรมชาติกลายเป็นหนึ่งในเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ทำให้ระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรกร สร้างความปวดหัวให้กับเกษตรกรอย่างมาก เพราะหอยเชอรี่สามารถกัดกินต้นกล้าข้าวในนาได้เป็นไร่ แถมขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดไม่สิ้น 

ช่วงแรกใช้สารเคมีกำจัด แต่เกิดสารเคมีตกค้าง จึงเกิดจุดเปลี่ยน ชาวบ้านนำหอยเชอรี่เอาไปใส่ใน “ตำป่า” ปรากฏว่าเนื้อสัมผัสของหอยกลับนุ่มหนึบอร่อยถูกปากคนไทย แถมในปัจจุบันยังนำหอยเชอรี่ไปทำเมนูต่าง ๆ ลวกจิ้ม ลาบก้อย แกงคั่วหอย เพิ่มมากขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

หอยเชอรี่จึงกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจไปในทันที มีการจับขายส่งพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนเปิดฟาร์มเลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อการบริโภค สร้างรายได้ให้แก่ชาวนาได้อีกทาง 

ปลาซัคเกอร์

“ปลาซัคเกอร์” หรือ ปลากดเกราะ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2520 มีการนำปลาชนิดนี้เข้ามาเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อทำความสะอาดตู้ปลา ซึ่งปัญหาใหญ่เลยคือ ปลาซักเกอร์มีนิสัยดุร้าย ถ้ามีอาหารไม่เพียงพอ พวกมันจะเข้าทำร้ายและกินสัตว์ชนิดอื่น 

นอกจากนี้ปลาซักเกอร์ยังโตเต็มที่ได้ถึง 2 เมตร ดังนั้นเมื่อเหล่าปลาซักเกอร์ตัวใหญ่ขึ้น หรือ สร้างปัญหาใน “ตู้ปลา” หลายคนจึงเลือกจะนำเหล่าปลาเทศบาลเหล่านี้ไปปล่อยลงตามแหล่งน้ำ และยังมีความเชื่อว่า ปลาซัคเกอร์ คือ ปลาราหู ปล่อยแล้วช่วยสะเดาะเคราะห์

เมื่อถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ พวกมันแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แถมยังทำร้าย ไล่ล่าสัตว์น้ำท้องถิ่น กลายเป็นการทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำในไทย ทางภาครัฐจึงแนะนำให้กำจัดปลาซักเกอร์หากพบเจอในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงรณรงค์ไม่ให้ปล่อยปลาซักเกอร์ลงในแหล่งน้ำอีกด้วย

ถึงแม้หน้าตาและรูปร่างปลาซักเกอร์จะแตกต่างจากปลาทั่วไป แต่ปลาซักเกอร์สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เหมือนปลาปกติ ซึ่งมีคนกินแล้วบอกว่า รสชาติปลาซักเกอร์อร่อยกว่าเนื้อปลาชนิดอื่น แต่ต้องเลือกในแหล่งน้ำที่สะอาด มีน้ำไหลตลอดเวลา เพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง

ปลาดุกบิ๊กอุย

“ปลาดุกบิ๊กอุย” เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยไทย กับ ปลาดุกเทศ หรือ ปลาดุกแอฟริกา ที่โตเร็ว กินอาหารได้ทุกชนิด ต้านทานโรค ผลปรากฎว่า ปลาดุกบิ๊กอุยสามารถเพาะพันธุ์ได้ดี จนเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กันแพร่หลาย 

ปลาดุกบิ๊กอุย กลายเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจของไทย แต่ไม่ควรนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำ เพราะปลาพวกนี้จะ “กินล้างกินผลาญ” พวก ลูกปลา กุ้ง หอย ปู สัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ ซึ่ง “ปลาดุกบิ๊กอุย 1 ตัน สามารถกินสัตว์น้ำประมาณ 1.8 ล้านตัวต่อปี” เลยทีเดียว ถือว่าทำลายระบบนิเวศจำนวนมหาศาล

แต่การรุกรานของปลาดุกบิ๊กอุยตามแหล่งน้ำ ก็สามารถหยุดยั้งได้ด้วยความร้อนและเครื่องปรุงฝีมือคนไทย ด้วยการนำไป ย่าง แกงคั่ว ผัดเผ็ด หรือนำไปทอดกรอบทำผัดพริกแกง หรือจะนำเนื้อมายีแล้วทอดทำเป็นเมนูยอดนิยมอย่างปลูกดุกฟู หรือปลาดุกผัดพริกขิงได้ด้วย

กุ้งเครย์ฟิช

“กุ้งเครย์ฟิช” เป็นสัตว์น้ำอีกหนึ่งชนิดที่ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กุ้งเครย์ฟิชถูกเลี้ยงเพื่อเก็งกำไรเมื่อลูกกุ้งเจริญเติบโต จนทำให้มีราคาซื้อขายพุ่งสูง จนเกิดล้นตลาด ได้พบเห็นกุ้งชนิดนี้แพร่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อย่าง น้ำตกศรีดิษฐ์ จ. เพชรบูรณ์ 

กุ้งชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป โอเชียเนีย และได้รับขนานนามว่า “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” ทำให้มีพละกำลังในการจับสัตว์น้ำท้องถิ่นกินเป็นอาหาร และเป็นอันตรายที่มีต่อระบบนิเวศ แถมยังแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอื่น ๆ ด้วย 

ความจริงแล้วกุ้งเครย์ฟิชนี้เป็นที่นิยมกินกันในประเทศจีนมาก เพราะมีเนื้อแน่นหลากหลายรสชาติและเคี้ยวหนึบกว่ากุ้งปกติทั่วไป เหมาะกับการไป ผัด ต้ม มากกว่าย่าง เพราะมีเนื้อน้อย ต่างจากกุ้งแม่น้ำของไทย

ปลาหมอคางดำ

“ปลาหมอสีคางดำ” มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศแอฟริกา แต่มีคนนำเข้ามาเลี้ยงในไทย แต่อาจเกิดความเบื่อหน่ายปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนเกิดการแพร่พันธุ์ในบริเวณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ส่งผลต่อชาวบ้านที่เพาะพันธุ์กุ้งเกิดความเดือดร้อน เพราะปลาหมอแย่งกินกุ้งเป็นอาหารจนหมด และลุกลามไปหลายแหล่งของไทยแล้วอย่างใน แม่กลอง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และรวมถึงแถบชายฝั่งอ่าวไทยด้วย

วิธีลดจำนวนของปลาหมอคางดำเริ่มด้วยการนำไปเป็นอาหารปลา กุ้ง ปู และต่อมาเกษตรกรชาวเพชรบุรีได้มีไอเดีย นำปลาหมอคางดำที่มีเป็นจำนวนมาก มาแปรรูปเป็น “น้ำปลาจากปลาหมอคางดำ” และเร่ขายอยู่บริเวณชุมชน แถมยังช่วยลดจำนวนของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ลงอีกด้วย  

แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่มีการขวนขวายที่มากพอ ที่จะไปล่าปลาหมอคางดำ เพื่อจะกำจัด หรือนำไปต่อยอดเป็นสิ่งอื่นก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อชาวบ้านพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่บ่อของตัวเอง ก็ปล่อยมันไปแพร่พันธุ์ไปตามธรรมชาติ ผลที่ตามมาทำให้ ระบบนิเวศบริเวณนั้นถูกปลาหมอคางดำทำลายไปหมด 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่