fbpx
Search
Close this search box.

Emergency Fund เงินสำรองฉุกเฉินที่ทุกคนต้องมี

เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างสภาวะวิกฤตโควิดที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังดำเนินอยู่ อาชีพที่มั่นคงวันหนึ่งอาจหายวับไปโดยไม่ทันตั้งตัว รายได้หดหาย แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งการมีเงินสำรองฉุกเฉินจึงเป็นเหมือนแผนสำรองในชีวิต ที่จะสามารถให้เราดำเนินชีวิตฝ่าอุบัติที่ลำบากไปได้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็ตาม วันนี้ ACU PAY จึงพามาทำความเข้าใจ Emergency Fund หรือ เงินสำรองฉุกเฉิน ที่ทุกคนต่างต้องมีสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินคืออะไร

เป็นเงินเก็บที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือมีเหตุการณ์อะไรที่จำเป็นต้องใช้เงินแบบกะทันหันเร่งด่วน โดยไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุ, รถยนต์ต้องส่งซ่อมด่วน, ตกงานกะทันหัน หรือ ผ่าตัดฉุกเฉิน เป็นต้น 

ต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี

เบื้องต้นเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินออมต่อเดือนที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ขั้นตอนแรกควรคำนวณค่าใช่จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ต่อเดือนก่อน ยกตัวอย่างเช่น 

  • ค่าเช่าที่อยู่อาศัย, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าบริการสมาชิก และค่าใช้จ่ายรายเดือนอื่นๆ
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง และค่าน้ำมัน
  • ค่าอาหาร, ค่ายา (ที่ต้องใช้ประจำ)
  • เบี้ยประกันภัย, ค่างวดสินเชื่อ
  • เงินออมรายเดือน เงินลงทุน และ เงินออมสำหรับการเกษียณ (รวมทั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ฯลฯ)
  • เงินที่ให้พ่อแม่รายเดือน

สมมติว่ามียอดค่าใช้จ่ายทั้งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,000 บาท ควรทยอยเก็บเงินออมฉุกเฉินให้ได้อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายและเงินออม หรือประมาณ 120,000 – 240,000 บาท หรือมากกว่านั้นจะยิ่งดี 

อีกหนึ่งขั้นตอนคือ การกำหนดระยะเวลาเก็บเงินออมให้ชัดเจน ว่าจะเก็บเงินก้อนนี้ในระยะเวลากี่เดือน ซึ่งข้อดีของการรวมเงินออมต่อเดือนไว้ในการคำนวณเสมอ คือ เงินส่วนนี้จะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายการเงินในระยะยาวได้ตามที่ตั้งใจโดยไม่ต้องหยุดชะงักเมื่อเจอเรื่องฉุกเฉินในชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินรวม 200,000 บาท แต่มีเงินสดอยู่แล้ว 50,000 บาท แสดงว่าจะต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 150,000 บาท

หากตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินก้อนนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือน ใช้วิธีคำนวณโดยการนำ 150,000 บาท จากเงินที่ต้องการเก็บเพิ่ม หารด้วย 12 เดือน เท่ากับว่าจะต้องแบ่งเงินเพื่อเติมไปในเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้เดือนละ 12,500 บาท

ทั้งนี้การคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินอาจขึ้นอยู่กับตัวแปรอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น หน้าที่การงาน การครอบคลุมของเงินประกัน อายุ หรือแม้แต่รายได้ทางอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น 

  • นาย A อายุ 26 ปี ทำงานเป็นฟรีแลนซ์กราฟิกกว่า 3 ปี มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะจ้างงานตอนไหน แบบนี้ นาย A ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกรณีที่ไม่มีโปรเจกต์ใหม่เข้าเยอะ (เป็นต้น)

ตัวอย่างถัดไป 

  • นาย B อายุ 45 ปี ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที มีแพลนกำลังจะวางเงินดาวน์บ้านใหม่ เขาได้รับสวัสดิการจากบริษัทมากมาย เช่น ค่าเดินทาง ประกันสุขภาพกลุ่ม มีเงินชดเชยกรณีโดนเลิกจ้าง ถึงแม้อาชีพจะมั่นคง แต่นาย B ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เดือน เผื่อกรณีโดนเลิกจ้างและไม่มีสวัสดิการต่าง ๆ แล้ว เท่านี้เขาก็จะมีเงินเผื่อผ่อนบ้านได้โดยไม่เดือดร้อน

เก็บเงินสำรองไว้ที่ไหนจะอุ่นใจที่สุด

ที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉินต้องสามารถถอนมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีเหตุจำเป็น ซึ่งที่เก็บเงินนี้ต้องมีสภาพคล่องสูง จึงแนะนำให้เก็บเงินเป็น 2 ทางเลือก ได้แก่ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือ หน่วยลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในระยะเวลา 1-2 วัน ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หน่วยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น 

การมีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่จะช่วยรองรับแรงกระแทกจากปัจจัยที่กระทบสถานะการเงินของเราไม่ทันตั้งตัว ทั้งนี้เราสามารถค่อย ๆ ทยอยสะสมจากเงินออมที่ได้ต่อเดือน จนเต็มวงเงินที่ต้องการของเงินสำรองฉุกเฉิน เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ไปเงินก้อนนี้ออกไป ก็ต้องกลับเติมใหม่ให้เต็มเหมือนเดิม และที่สำคัญไม่ควรเอาเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถ้าอยากได้ต้องออมเงินแยกอีกกระเป๋าต่างหากจะดีที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนๆ สามารถติดตาม ACU PAY Thailand ผ่านช่องทางการติดตามอื่นๆ ได้ที่